IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | an6n@yahoo.com
ภายใต้โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี หวังสร้างมาตรฐาน "สินค้าปลอดภัย" ปราศจากสิ่งปนเปื้อน และสารพิษตกค้าง เพิ่มอายุการเก็บรักษาให้ยาวนานขึ้น ขยายโอกาสทางการตลาด กระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี หนุนชุมชนเข้มแข็ง เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวในพิธีเปิดตัวกิจกรรม "ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม" (ประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร) ซึ่งเป็นกิจกรรมย่อยที่ 1 ของกิจกรรมที่ 9 ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (กลุ่ม D) รวมทั้งเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การพัฒนาและยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ในชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี" ครั้งที่ 1 ว่า กิจกรรมดังกล่าว อยู่ภายใต้โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เป็นแนวคิดพัฒนา OTOP รูปแบบใหม่
โดยเน้นการดึงนักท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชน ให้ชุมชนได้ขายสินค้า สร้างรายได้เพิ่ม นำเอาเสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรมมาแปลงเป็นรายได้ ส่งเสริมความเข้มแข็งและเศรษฐกิจของชุมชนอย่างยั่งยืน
กิจกรรมย่อยที่ดำเนินงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP ให้ผู้ประกอบการในกลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา(กลุ่มD) เฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม(ประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร) ให้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางการตลาดได้ ซึ่งได้ดำเนินงานร่วมกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โดยกำหนดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการกับผู้ประกอบการ OTOP ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 51 ครั้ง มีเป้าหมายในการยกระดับผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 10,000 ราย จำนวน 10,000 ผลิตภัณฑ์ ใช้ระยะเวลาดำเนินงานรวม 5 เดือน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการมีองค์ความรู้ในการพัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐานต่อไป ซึ่งนับเป็นกลุ่มที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงตลาด เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว สินค้าที่ผลิตยังไม่มีมาตรฐาน ทำให้สินค้ามีอายุการเก็บรักษาสั้น เสี่ยงต่อการปนเปื้อน จึงมุ่งเน้นให้มีการตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ จัดผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อปรับปรุงและสุ่ม
เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เพื่อตรวจสอบซ้ำ ทำการประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เปรียบเทียบกับมาตรฐานอ้างอิง และการออกใบรับรอง "สินค้าปลอดภัย" ตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด
"ปัจจุบันกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP กลุ่ม D มีจำนวนสินค้าสูงถึง 64,570 ผลิตภัณฑ์ และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีภูมิปัญญา มีอัตลักษณ์ประจำแต่ละท้องถิ่นที่ถือว่าเป็นต้นทุนที่ควรนำมาส่งเสริมให้ฉายแวว เพราะนอกจากจะช่วยขยายฐานลูกค้าก่อให้เกิดรายได้จากการขายสินค้าทั้งภายในและนอกชุมชนของตนเองแล้ว ยังเป็นการปูทางไปสู่การพัฒนายกระดับมาตรฐานสินค้าตามเกณฑ์ข้อกำหนด ทั้งในระดับชาติและระดับสากลในอนาคต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างงาน กระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี และชุมชนเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี"
ด้านนายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวมีขั้นตอนการดำเนินงาน โดยเริ่มจาก
- การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป้าหมาย (อาหาร เครื่องดื่ม และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร) เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานสินค้าปลอดภัย
- กำหนดเกณฑ์มาตรฐานและออกแบบเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อใช้ในการประเมินและออกใบรับรองมาตรฐาน โดยอ้างอิงมาตรฐานสินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น มผช., อย., วพ.(กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) เป็นต้น
- จัดการประชุมเชิงปฏิบัติเพื่อให้ความรู้แก่กลุ่มผู้ประกอบการเป้าหมาย
- นำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการทดสอบวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ จำนวน 10,000 ผลิตภัณฑ์
- ส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ ในกลุ่มสินค้าที่ยังไม่ผ่านมาตรฐาน และกลุ่มสินค้าที่ผ่านแต่ต้องได้รับการปรับปรุง และนำมาตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการอีกครั้ง
- นำผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาหลังการให้คำปรึกษา เข้ารับการทดสอบวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการอีกครั้ง
- จัดทำใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เพื่อแสดงว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการพัฒนา มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์มาตรฐานอ้างอิงที่กำหนด และ8)ออกแบบตราสัญลักษณ์มาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์ พร้อมความหมายของตราสัญลักษณ์ เพื่อให้กรมการพัฒนาชุมชนได้ใช้ประโยชน์ต่อไป