IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | an6n@yahoo.com
นายชาคริต ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด หรือ CPanel ผู้ผลิตและจำหน่ายผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เปิดเผยว่า CPanel ได้ยื่นไฟลิ่งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เตรียมเสนอขาย IPO 39.50 ล้านหุ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพและขยายโอกาสทางธุรกิจ โดยทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในปี 2564-2565 นี้ บริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิต ลงทุนก่อสร้างอาคารโรงงานเพิ่มเติมภายในบริเวณที่ตั้งโรงงานในปัจจุบัน และจะติดตั้งเครื่องจักรการผลิตระบบ Fully Automated คล้ายกับที่ใช้งานอยู่ แต่จะมีการจัดวาง layout ของเครื่องจักรให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดในกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอีกอย่างน้อย 720,000 ตารางเมตรต่อปี จากปัจจุบัน 720,000 ตารางเมตรต่อปี
รองรับการเติบโตของรายได้ตามแผนธุรกิจ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 500 ล้านบาท คาดการณ์จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2564 นี้แน่นอน
CPanel ประกอบธุรกิจเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แผ่นพื้นและผนังคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast Concrete Wall and Slap Panel) และส่วนประกอบอาคารที่ผลิตจากคอนกรีตสำเร็จรูป อาทิ คาน บันได ผนังรับหลังคา ฟาซาด ที่ใช้สำหรับงานก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย อาคารสำนักงาน โรงแรม อาคารคลังสินค้า และโรงงานอุตสาหกรรม ภายใต้ตราสินค้า “CPanel” โดยจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตสำเร็จรูปให้กับกลุ่มลูกค้าประเภทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และผู้รับเหมาก่อสร้าง
ปัจจุบัน CPanel มีทุนจดทะเบียนจำนวน 150 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนชำระแล้วจำนวน 110.50 ล้านบาท มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท และอีกส่วนหนึ่งเป็นการรองรับการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งแรกต่อประชาชน (IPO) 39.50 ล้านบาท หรือคิดเป็น 39.50 ล้านหุ้น และจะนำหุ้นสามัญทั้งหมดเข้าจดทะเบียนในตลาด mai
ด้าน นายสุพล ค้าพลอยดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวเสริมว่า การระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาด mai ของ CPanel จะช่วยเพิ่มศักยภาพ ขยายโอกาส และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ นอกจากนี้ยังได้รับความน่าเชื่อถือจากลูกค้า คู่ค้า และสถาบันการเงินมากยิ่งขึ้น สร้างความมั่นคงและความยั่งยืนให้กับองค์กรในระยะยาว โดย CPanel มีวัตถุประสงค์นำเงินที่เสนอขายหุ้น IPO ไปใช้ลงทุนก่อสร้างโรงงานเพิ่มเติมอีก 1 โรงงาน รวมค่าก่อสร้างโรงงาน ค่าเครื่องจักรการผลิตระบบ Fully Automated และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ติดตั้งเครื่องจักร และการทดสอบระบบการทำงาน (Commissioning Tests) รวมถึงนำไปชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการต่อไป
ทั้งนี้ CPanel ถือเป็นบริษัทที่มีศักยภาพในการแข่งขัน โดยผลิตผนังคอนกรีตสำเร็จรูปด้วยหุ่นยนต์ที่มีเทคโนโลยีและเครื่องจักรการผลิตระบบ Fully Automatic เพียงรายเดียวที่สามารถออกแบบและขึ้นงานได้ตามความต้องการของลูกค้า มีการบริหารจัดการและควบคุมงานที่มีประสิทธิภาพ และด้วยการผลิตที่ได้มาตรฐานทำให้ลดการเกิดปัญหาหน้างาน อีกทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัย ซึ่งบริษัทได้รับความไว้วางใจจากผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์และผู้รับเหมาชั้นนำจำนวนมาก จนสามารถเป็นผู้นำตลาดผนังคอนกรีตสำเร็จรูป อันดับต้นๆของประเทศ ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 20,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นายชาคริต กล่าวต่อว่าผลิตภัณฑ์คอนกรีตสำเร็จรูปของ CPanel ผลิตด้วยเทคโนโลยีและเครื่องจักรการผลิตที่ทันสมัยของ Vollert Anlagenbau Gmbh ประเทศเยอรมันนี และได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยนำ Software ต่างๆ ที่ทำงานเชื่อมโยงกันและบริหารงานก่อสร้างบนระบบ Building Information Modeling หรือ BIM ตั้งแต่การออกแบบ ควบคุมการผลิต การทำงานหน้างาน และการจัดทำรายงานเอกสารเข้าด้วยกันอย่างบูรณาการ
“โดยบริษัทก่อตั้งในปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ผลลัพธ์ในเชิงของลูกค้าคือ ลูกค้าให้ความเชื่อใจ ไว้วางใจ ซึ่งเมื่อก่อนความเชื่อใจในระดับนี้ยังน้อย ปัจจุบันลูกค้าของ CPanel หลายแห่งปฏิบัติกับเราเหมือนเราคือหนึ่งในทีมเค้าแล้ว ทีม CPanel จะนั่งทำงานคู่กับทีมออกแบบของลูกค้า เพื่อช่วยลดต้นทุนตั้งแต่เริ่มคิดโปรเจค อีกเรื่องคือลักษณะการสั่งซื้อของลูกค้า ส่วนใหญ่เลือก CPanel อยู่แล้ว แต่ก็มีบางรายที่ลูกค้าต้องซื้อของเจ้าอื่นด้วยเพื่อกระจายความเสี่ยง เพราะไม่อยากผูกขาดไว้กับรายเดียว ซึ่ง CPanelL เป็น Supplier รายแรกที่ลูกค้าไว้วางใจเลือกใช้ เราขอให้เราได้นั่งในตำแหน่ง Preferred Partner”
สำหรับ Business model ของ CPanel คือ “Experience and Words of Mouth” คือประสบการณ์การใช้ Precast ของลูกค้า ใช้แล้วต้องมีคำสั่งซื้อซ้ำและต่อเนื่อง และมีการบอกต่อ ทำให้ฐานลูกค้าของ CPanel ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ และในฐานะเจ้าของกิจการ ผมต้องการสร้างวัฒนธรรมให้พนักงานพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เรียนรู้เป็นคนที่เก่งขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่ลูกค้าสามารถจะคุยงานกับพนักงานของ CPanel ได้ทุกคน ข้อดีคือ 1 เป็นการปรับวัฒนธรรมองค์กร 2 ทำให้พนักงานดีลกับลูกค้ารายไหนก็ได้ 3 ทำให้ลูกค้ารู้สึกปลอดภัย เพราะพนักงานของ CPanel ทุกคนจะออกแบบบ้านในสเปกที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งสำหรับสถาปนิกที่ส่วนใหญ่แล้วชอบคนไหนก็จะใช้คนนั้น แต่ CPanel สามารถทำให้รู้สึกว่าพนักงานทุกคนมีมาตรฐานเดียวกันหมด
“CPanel มีความเป็นไชนิสแฟมิลี่ค่อนข้างมาก ผมพยายามทำให้ พนักงานรู้สึกได้ว่าต้องฝากชีวิตกับเราได้ ถ้าอยู่กับผมต้องมีความเป็นมืออาชีพ ต้องทำงานเป๊ะ ผมมีการวางแผนอาชีพให้พนักงาน มีแนวทางการเติบโตในสายอาชีพ ทักษะอะไรที่ควรต้องมี ก็หาคนมาเทรนนิ่ง รวมถึงดูจุดอ่อนจุดแข็งของพนักงานด้วย เพื่อที่จะได้รู้ว่าเราจะสนับสนุนยังไงให้เขามีพัฒนาการที่ดีกว่าเดิม” นายชาคริต กล่าวทิ้งท้าย