IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | an6n@yahoo.com
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยการสำรวจหัวข้อ "การเข้าถึงสินเชื่อของ SMEsไทย" จากกลุ่มตัวอย่าง 1,200 ราย ดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา 45.66% นิติบุคคล 14.53% อื่นๆ 20.31% และธุรกิจที่ไม่ได้จดทะเบียน 19.49% พบว่า ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา มีความต้องการขอสินเชื่อ เพื่อเสริมสภาพคล่อง 56.23% โดยยื่นขอจากธนาคารพาณิชย์ 41.21% ธนาคารของรัฐ 30.80% และเพื่อลงทุนหรือขยายกิจการ 61.4% โดยยื่นขอจากธนาคารพาณิชย์ 40.94% ธนาคารของรัฐ 30.19%
เมื่อถามทัศนะต่อการขอสินเชื่อเมื่อใดนั้น กลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า เมื่อต้องการเสริมสภาพคล่องธุรกิจ 54.75% ขยายธุรกิจ 46.66% ชำระหนี้เก่า 32.37% เป็นต้น และหากแยกตามขนาดธุรกิจพบว่า ขนาดเล็กต้องการกู้เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง 55.5% ขยายธุรกิจ 46.3% ชำระหนี้เก่า 31.7% เป็นต้น สูงกว่าธุรกิจขนาดกลางที่ต้องการกู้เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง 45.3% ขยายธุรกิจ 51.2% ชำระหนี้เก่า 40.7% เป็นต้น
กลุ่มตัวอย่างระบุด้วยว่า เมื่อจะกู้เงิน มักจะนึกถึงหน่วยงานธนาคารของเอกชน 28.78% ธนาคารของรัฐ 23.48% หากแยกเป็นขนาดธุรกิจ กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กบอกว่า นึกถึงธนาคารของเอกชน 28.6% ธนาคารของรัฐ 23.4% ส่วนขนาดกลาง นึกถึงธนาคารของเอกชน 30.7% ธนาคารของรัฐ 23.9%
สำหรับการสำรวจในหัวข้อ "ความต้องการสินเชื่อและการเข้าถึงสินเชื่อ" นั้น กลุ่มตัวอย่าง 24.61% บอกว่าเคยยื่น ส่วน 75.39% บอกว่าไม่เคยยื่น เนื่องจากส่วนใหญ่ถึง 44.11% คิดว่า ยังไงก็ไม่ได้อยู่แล้ว ส่วนสาเหตุที่สถาบันการเงินในระบบไม่อนุมัติสินเชื่อให้นั้น กลุ่มตัวอย่างบอกเหตุผลหลัก เกิดจากหลักทรัพย์ที่ค้ำมีมูลค่าน้อย หรือไม่มีหลักทรัพย์ค้ำเลย ไม่มีประวัติการชำระเงิน และไม่มีการทำบัญชี เป็นต้น
กรณีรัฐบาลมีนโยบายในการสนับสนุนSMEs พบว่า ธุรกิจขนาดกลางจะมีโอกาสเข้าถึงอย่างมาก 28.2% ส่วนธุรกิจขนาดเล็ก อยู่ที่ 16.9% ส่วนทัศนะต่อความสามารถในการเข้าถึงนโยบายและมาตรการของภาครัฐในการปล่อยสินเชื่อนั้น กลุ่มระบุว่า "มาก" จำนวน 29.35% ส่วนที่ระบุว่า "ปานกลาง น้อย และไม่มีโอกาสเลย" รวมกันถึง 70.64% สาเหตุ คือ ไม่รู้เงื่อนไข 42.14% คิดว่าเป็นธุรกิจขนาดเล็กไม่น่าจะผ่าน 28.05% ไม่มีความเคลื่อนไหวของเงินในบัญชี 25.35% ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 19.13% ไม่มีคนค้ำประกัน 16.67% ไม่ทราบว่าจะติดต่อที่ใด 10.92% และไม่มีความรู้ในการทำบัญชี 3.64%
ส่วนมาตรการหรือความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ต้องการได้รับนั้น ได้แก่ ลดขั้นตอนการทำเอกสารที่มีจำนวนค่อนข้างมาก อนุมัติให้เร็วขึ้นและง่ายขึ้น ลดค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ มีหน่วยงานที่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนและเข้าใจ รวมถึง ลดอัตราดอกเบี้ยในการกู้ ในขณะที่ข้อเสนอที่ต้องการได้รับจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.) ได้แก่ อนุมัติสินเชื่อวงเงินสูง ลดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และลดข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อ
รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวเพิ่มเติม ว่า ผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนถึงสถานการณ์ธุรกิจของ SMEs โดยเฉพาะการทำบัญชีเดียวซึ่งมีผลต่อการขอสินเชื่อในอนาคตนั้น พบว่า SMEsขนาดเล็ก ไม่มีการทำบัญชีเลยถึง 10.95% ขณะที่ SMEs ที่ไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ได้ทำบัญชีถึง 12.10% โดยสาเหตุที่ไม่ทำบัญชีเนื่องจาก "ลืม ไม่มีเวลาทำบัญชี มองว่าไม่ได้เอาไปใช้อะไร เสียเวลาจัดทำ ไม่รู้ว่าทำบัญชีอย่างไร และเอกสารไม่ครบถ้วน" ซึ่งในปี 2562 กระบวนการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs จำเป็นต้องใช้บัญชีชุดเดียวประกอบการพิจารณาสินเชื่อและสามารถดูย้อนหลัง 3 ปีเป็นอย่างน้อย ซึ่งกรณีหากเป็นการขอสินเชื่อใหม่ ผู้ประกอบการ SMEs 63.09% พร้อมที่จะจัดทำ โดยมองว่ามีผลต่อการอนุมัติสินเชื่อได้รวดเร็ว มีประโยชน์ต่อธุรกิจทั้งปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งมาตรการและความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ SMEs ต้องการ คือ 1 การให้ความรู้/สอนทำบัญชีเดียว 2.ลดขั้นตอนการทำบัญชีให้สะดวกมากขึ้น และ 3. บริการจัดทำบัญชีเดียวให้โดยไม่ต้องจ้างเอกชน
ด้านนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.) กล่าวว่า จากผลสำรวจดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบการSMEsขนาดเล็ก ที่มีจำนวนกว่า 3 ล้านราย โอกาสเข้าถึงสินเชื่อยากกว่าขนาดกลาง รวมถึง ยังมีความต้องการให้การเข้าถึงสินเชื่อสะดวกยิ่งขึ้น และธนาคารของรัฐ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน เพื่อให้ผู้ประกอบการSMEs นึกถึงเป็นอันดับแรกเมื่อต้องการกู้เงิน ดังนั้น ธพว.ได้ยกระดับการทำงานเชิงรุก เป็นฝ่ายเดินเข้าไปอำนวยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการเสียเอง ผ่านแพลตฟอร์ม SME D Bank แอปพลิเคชันบริการครบวงจรเพื่อเอสเอ็มอีไทย ทำงานควบคู่กับหน่วยบริการเคลื่อนที่ "รถม้าเติมทุน ส่งเสริม SMEsไทย ฉับไว ไปถึงถิ่น"
โดยกระบวนการ หลังจากโหลดแอปพลิเคชั่น SME D Bank แล้ว ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ทุกที่ทุกเวลา ภายใต้รหัส 24x7 หมายถึง ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน โดยข้อมูลการยื่นกู้จะส่งไปยังฐานข้อมูล จากนั้น เจ้าหน้าที่ธนาคาร ซึ่งเตรียมพร้อมทำงาน ภายใต้รหัส 8-8-7 (ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม ตลอด 7 วัน) จะติดต่อกลับภายใน 3 วัน เพื่อนัดหมายให้หน่วยรถม้าเติมทุนฯ วิ่งเข้าไปพบ เพื่อดูข้อมูลเชิงประจักษ์การดำเนินธุรกิจจริง สามารถพิจารณาสินเชื่อได้โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ผู้ประกอบการรู้ผลได้ใน 7 วัน ด้วยวิธีการดังกล่าว จึงตอบโจทย์ให้ผู้ประกอบการรายย่อย ลดขั้นตอนการขอสินเชื่อ ช่วยให้เข้าถึงแหล่งทุนได้สะดวกสบาย และมากยิ่งขึ้น ขจัดข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ไปอย่างหมดสิ้น
อีกทั้ง ในแพลตฟอร์ม SME D Bank ยังมีเครื่องมือเสริมแกร่งธุรกิจ (Tools Box) รวบรวมแอปพลิเคชัน และซอฟต์แวร์กว่า 140 รายการ และคลังข้อมูลความรู้สำหรับเอสเอ็มอี (e-Library) นับพันรายการ ช่วยยกระดับความสามารถแก่เอสเอ็มอี โดยเฉพาะด้านการบัญชี ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการเพิ่มพูนความรู้ เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน และพร้อมรับการต้องทำบัญชีเดียวในอนาคตอันใกล้ นับตั้งแต่เปิดตัวแพลตฟอร์ม SME D Bank เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง มียอดดาวน์โหลดแล้วมากกว่า 35,000 ดาวน์โหลด
นอกจากนั้น ธพว. ได้จัดกิจกรรมเสวนาฟรี "ยกระดับปรับเปลี่ยน... ก่อนกู้แบงก์" โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน เพื่อให้ความรู้ และผลักดันผู้ประกอบการรายเล็กเข้าสู่ระบบบัญชีเดียว เปิดโอกาสถึงแหล่งทุน โดยเริ่มจัดครั้งแรกที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา และจะเดินสายจัดในพื้นที่อื่นๆ ต่อไปทั่วประเทศ เช่น วันที่ 3 ตุลาคม 2561 ณ ห้องสัมมนาเริงภิรมย์ อาคารนาวีภิรมย์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และวันที่ 8 ตุลาคม 2561 ณ co-working space ชั้น 1 อาคาร SME Bank Tower (ติดสถานีรถไฟฟ้าอารีย์) กรุงเทพฯ เป็นต้น