IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | an6n@yahoo.com
เมื่อถามถึงภาพรวมว่ากิจการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง พบว่า 68.8% เห็นว่ากิจการฟื้นจากจุดต่ำสุดแล้ว อีก 20.8% ตอบว่าไม่ทราบ, ยังไม่แน่ใจ และ 10.4% เห็นว่ายังไม่ฟื้นตัว โดยหากแยกตามขนาดตามการฟื้นตัวพบว่าธุรกิจขนาดกลาง อยู่ที่ 74.9% ส่วนธุรกิจขนาดเล็กอยู่ที่ 67.1% และเมื่อแบ่งเป็นรายภาค พบว่าภาคใต้ฟื้นตัวสูงสุด 89% จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 85.7% กรุงเทพฯและปริมณฑล 79.5% ภาคเหนือ 60% ภาคตะวันออก 52.7% และภาคกลางน้อยที่สุด 22.5% จากปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะราคาข้าว นางเสาวณีย์กล่าวว่า
เมื่อสอบถามกลุ่มเอสเอ็มอีดังกล่าวว่าจะเริ่มต้นลงทุนอีกครั้งเมื่อใด พบว่า 38.8% ตอบว่าไม่ทราบและไม่แน่ใจ, 19% จะกลับมาลงทุนในปี 2562, 13.6% ตอบว่าช่วงไตรมาส 1/2556, 13% ตอบว่าครึ่งหลังของปี 2561, 12.6% เป็นช่วงไตรมาส 2/2561 และ 3% ช่วงไตรมาส 4/2561 สำหรับความกังวลในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2560 เรียงตามลำดับ พบว่า 1.ภาวะเศรษฐกิจโลกมีผลต่อภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยว 2.ภาวะการแข่งขันที่รุนแรง 3.กำลังซื้อภายในประเทศลดลง 4.ความไม่สงบทางการเมือง และ 5.การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค
นางเสาวณีย์กล่าวต่อว่า สำหรับดัชนีวัดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีไทยในไตรมาส 3/2560 อยู่ที่ระดับ 47.7 ลดลงจากไตรมาสก่อนที่อยู่ระดับ 47.9 สะท้อนว่าเอสเอ็มอียังมีความเชื่อมั่นในความสามารถในการแข่งขันระดับหนึ่งแต่ยังไม่สูงมากนัก โดยเมื่อแบ่งเป็นดัชนีสถานการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ที่ 41.1 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสสองที่อยู่ระดับ 41.3 เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์ด้านยอดขายเริ่มฟื้นตัวและผลดำเนินงานอยู่ในภาวะทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจมีการปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ระดับ 50.3 จากไตรมาสก่อนที่ระดับ 50.5 เนื่องจากธุรกิจยังเห็นว่าต้นทุนในการประกอบการยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงและยอดขายที่ยังไม่เพิ่มสูงนักทำให้กำไรของธุรกิจยังคงทรงตัว และดัชนีความยั่งยืนธุรกิจ อยู่ที่ระดับ 51.7 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่ระดับ 51.8 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ปกติที่ระดับ 50 แสดงว่าเอสเอ็มอีไทยเห็นว่าธุรกิจของตนสามารถปรับตัวได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัยและผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจหรือจีดีพีของเอสเอ็มอีไทยในปี 2560 คาดว่าจะมีการขยายตัว 4.5% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ก่อนหน้าที่จะขยายตัวเพียง 4.2% โดยธุรกิจขนาดย่อมจะขยายตัว 4.4% และธุรกิจขนาดกลางจะขยายตัว 4.9% ตามคาดการณ์ของภาวะเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวดีขึ้นที่ระดับ 3.9% จากปัจจัยบวกของภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเกินกว่าคาดการณ์ที่วางไว้ ทั้งนี้คาดว่า ภาวะเศรษฐกิจเอสเอ็มอีไทย จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในปี 2564 น่าจะขยายตัวได้ที่ 5.1% สะท้อนให้เห็นว่าเอสเอ็มอีไทยจะมีภาวะธุรกิจที่ดีขึ้นเป็นลำดับตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต
นายธนวรรธน์กล่าวว่า ในปี 2561 ทางมหาวิทยาลัยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะได้อานิสงส์เชิงบวกจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ 1.การเลือกตั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ซึ่งน่าจะทำให้เงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจอย่างน้อย 30,000 ล้านบาท และก่อให้เกิดวงรอบเศรษฐกิจอีกประมาณ 2 รอบ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 70,000 ล้านบาท และ 2. นโยบายช่วยเหลือคนจนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่าปีละ 50,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการหมุนวงรอบเศรษฐกิจประมาณ 2 – 3 รอบ น่าจะช่วยสร้างมูลค่ารวมกันหลายแสนล้านบาท จึงเชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจภายในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 0.5 – 1%