IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | an6n@yahoo.com
สถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม เผยความคืบหน้า 2โครงการเด่นช่วงครึ่งปีแรก 2562 หนุนผู้ประกอบการยกระดับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร มุ่งพัฒนาผู้ประกอบการ 250 ราย สู่นักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่(New Food Warrior 2019)อย่างต่อเนื่อง ผ่าน “โครงการยกระดับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร โดยนำมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการเพิ่มขีดความสามารถนักรบอุตสาหกรรมพันธุ์ใหม่ ประจำปี 2562” เน้นส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารอนาคต(Future Food) ชี้ปี 62 คาดมีมูลค่าตลาดในประเทศไม่น้อยกว่า 1.96 แสนล้านบาทต่อปี ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.3 ทั้งจัดกิจกรรมโรดโชว์ต่อยอดสร้างโอกาสทางการตลาดผลักดัน 4 ผลิตภัณฑ์ไฮไลต์ ทอดมันกุ้งไข่ขาว ขนมธัญพืช 7 ชนิด ข้าวหุงสุกเร็วผสมธัญพืช และผงกล้วยผสมผงถั่วขาวพร้อมดื่ม ภายใต้ “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ” แจงภาพรวมส่งออกอาหารของไทย 5 เดือนแรกปี2562(ม.ค.–พ.ค.) มีมูลค่า 435,217 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6ด้านนำเข้ามีมูลค่า 166,581 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.9
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า ในช่วงครึ่งปีแรก 2562 ที่ผ่านมา สถาบันอาหาร ได้ร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ดำเนินโครงการยกระดับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร โดยนำมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการเพิ่มขีดความสามารถนักรบอุตสาหกรรมพันธุ์ใหม่ ประจำปี 2562 โดยมีวัตถุประสงค์ในการยกระดับผลิตภาพการผลิต และส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ได้เริ่มดำเนินกิจกรรมดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนก.พ. ที่ผ่านมา จากการเปิดรับสมัครผู้ประกอบการอาหารทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ให้เข้าร่วมโครงการจำนวน 250ราย เพื่อเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการในด้านการบริหารจัดการธุรกิจแนวใหม่ แนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ การปรับเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อการออกแบบธุรกิจยุคดิจิทัล การออกแบบคุณค่า รวมถึงการอบรมเชิงปฏิบัติการ ด้วยการยกระดับองค์ความรู้สู่อุตสาหกรรม4.0 และกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การยกระดับผลิตภาพด้วยกระบวนการ Lean Process และเทคนิคกลยุทธ์การตลาดในยุค Cashless Society เป็นต้น
ขณะนี้ได้คัดเลือกผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาต่อยอดเชิงลึกสู่นักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่จำนวน 25 กิจการ เพื่อเข้ารับคำปรึกษาในการยกระดับผลิตภาพ และปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจในประเด็นที่ยังเป็นจุดอ่อนของกิจการโดยทีมที่ปรึกษาเข้าดำเนินการให้คำปรึกษารายกิจการ ณ สถานประกอบการ และจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ภายใต้หลักสูตรการพัฒนานักรบผู้สร้างคุณค่าเพิ่ม(Creating Value Warriors) โดยมีกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายนักรบ ได้แก่ Team Building , Study Visit และ Knowledge Sharing เป็นต้น
ผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกในปี 2562 จำนวน 25 ราย เป็นผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารอนาคต (Future food) 4 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ (Health Food / Functional Food) 19 กิจการ กลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารอินทรีย์ (Organics) 4 กิจการ กลุ่มผู้ผลิตอาหารทางการแพทย์ (Medical food) 1กิจการ และกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสารสกัดสมุนไพร (Food Supplementary & Herb Extract) 1 กิจการ โดยแต่ละรายจะได้รับการยกระดับในด้านต่างๆ เพื่อให้พร้อมแข่งขันในระดับสากลมากขึ้น เช่น บริษัท บ้านโป่งโนวิเทจ จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารทางแพทย์ ยกระดับด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง (Digital Marketing) เพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มมากขึ้น บริษัท นราห์ อินดัสตรี จำกัด ผู้ผลิตชาและอาหารเสริมจากพืชสมุนไพรออร์แกนิค ยกระดับด้านกระบวนการผลิตด้วย Lean Process การเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักร บริษัท อินทัชธนกร จำกัด ผู้ผลิตบิสกิตเพื่อสุขภาพ จากน้ำนมถั่วเหลืองเพื่อทดแทนเนย และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากถั่วเหลือง ยกระดับด้านการเพิ่มมูลค่าจากถั่วเหลือง บริษัท ซีซ่า ฟูดส์ จำกัด ยกระดับด้านกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ว่านหางจระเข้อบแห้ง บริษัท ไทยอินโนฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แหนม ไส้กรอก พรีไบโอติก ยกระดับด้านการจัดการกระบวนการผลิตด้วย Lean Process เพื่อลดความสูญเสีย เป็นต้น ซึ่งจะดำเนินกิจกรรมดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2562 นี้”
นายยงวุฒิ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้สถาบันอาหารยังได้จัดทำ “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ” โดยร่วมกับผู้ประกอบการยกระดับอาหารแปรรูปและเกษตรแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบของผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้สูงอายุโดยใช้นวัตกรรมใหม่(Food Innovation for Anti-Aging) มุ่งให้ได้รับการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ จัดทำผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ต้นแบบเสร็จเรียบร้อยแล้วรวม 4 ผลิตภัณฑ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานความร่วมมือกับหน่วยงานเป้าหมายหลายแห่งเพื่อจัด “กิจกรรมต่อยอดเพิ่มโอกาสทางการตลาดและสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภคเป้าหมาย” ล่าสุดได้นำผลิตภัณฑ์ไปแนะนำในงานประชุมที่รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ในโครงการโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยเรื้อรังและสัปดาห์โภชนาการให้ความรู้ผู้ป่วย ญาติ และผู้สนใจ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ทั้งหมด สามารถสนองตอบความต้องการของผู้สูงอายุ และผู้ใส่ใจดูแลสุขภาพได้เป็นอย่างดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ “ทอดมันกุ้งไข่ขาว” โดยบริษัท บีเลิฟเนอร์สซิ่งโฮม จำกัด จ.นครสวรรค์ เก็บรักษาแบบแช่เย็น/แช่เยือกแข็ง เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการโปรตีนในมื้ออาหารหลัก ย่อยง่าย ได้พลังงาน รับประทานง่ายไม่มีกลิ่นคาว ในอนาคตมีแผนจะจับมือกับศูนย์ดูแลสุขภาพ/ผู้ป่วยทั้งในและต่างประเทศ และเปิดเป็นร้านอาหารให้บริการอาหารไข่ขาวที่มีความหลากหลายทั้งคาว-หวาน
ผลิตภัณฑ์ “ขนมธัญพืช 7 ชนิด” โดยบริษัท ไทยฟู้ดส์ทูโก จำกัด จ.กำแพงเพชร อาหารว่างที่ประกอบด้วยธัญพืช รวม 7 ชนิด ได้แก่ ถั่วแดงเมล็ดเล็ก ถั่วแดงเมล็ดใหญ่ ถั่วขาว ถั่วเขียว ถั่วดำ ลูกเดือยและข้าวเหนียวดำ ผ่านกระบวนการให้ความร้อนต้มเคี่ยวทั้งวัน จนได้เนื้อสัมผัสนุ่ม เคี้ยวง่าย อุดมด้วยโปรตีนและใยอาหารสูง เก็บรักษาแบบแช่เยือกแข็ง มีแผนจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทานแบบเย็นคล้ายไอศกรีมต่อไป แนวโน้มมุ่งทำตลาดกลุ่มลูกค้าที่ให้บริการ catering ฟิตเนส ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และร้านค้าสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ “ข้าวหุงสุกเร็วผสมธัญพืช” โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดกมลไท เกษตรภัณฑ์ จ.อุทัยธานี ผลิตจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ เผือกหอม มันแครอท และฟักทองที่ปลูกโดยเกษตรกร ปลอดสารเคมี ผ่านการทำให้สุกและอบแห้ง เหมาะสำหรับหุงเป็นทั้งข้าวสวยและข้าวต้ม ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที ก็หอม นุ่ม พร้อมรับประทาน ได้คุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งผู้ประกอบการได้พัฒนาต่อยอดปรับเปลี่ยนเป็นการใช้ข้าว กข.43 ทำให้ผลิตภัณฑ์นี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานมากยิ่งขึ้น เพราะเป็น Low GI และผลิตภัณฑ์ “ผงกล้วยผสมผงถั่วขาวพร้อมดื่ม” โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดทุ่งโพธิ์พืชผล จ.พิจิตร เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชนิดผง ที่มีส่วนผสมหลักคือผงกล้วยและถั่วขาวผง ที่ชงดื่มง่าย ได้ประโยชน์ สามารถผสมกับเครื่องดื่มที่ชื่นชอบ แทนครีมเทียม แต่ได้ประโยชน์ด้านการเคลือบกระเพาะ ช่วยระบบขับถ่ายและควบคุมน้ำหนัก ซึ่งได้รับการตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดี หลังจากนี้จะทยอยแนะนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปสู่กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายในวงกว้างต่อไป
“สำหรับภาพรวมการส่งออกอาหารของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 435,217 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 166,581 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.9 ในส่วนของตลาดอาหารอนาคต(Future Food) ในประเทศ คาดว่าในปี 2562 จะมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 1.96 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 จากปี 2561 และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยอาหารฟังก์ชันนัลคือกลุ่มหลักที่มีส่วนแบ่งตลาดกว่าร้อยละ 60 รองลงมาคือกลุ่มผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ดีต่อสุขภาพ กลุ่มอาหาร free-from เช่น ปราศจากเนื้อสัตว์ ปราศจากกลูเตน และอาหารอินทรีย์ แนวโน้มการเติบโตของอาหารอนาคตในตลาดส่งออกที่มีศักยภาพสูงในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และจีน ก็มีทิศทางเดียวกัน ผู้ประกอบการจึงไม่ควรมองข้ามการผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ โดยการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีการแปรรูปอาหารต่างๆ มาใช้ในการผลิต เพื่อเป็นการยกระดับสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรสู่อาหารแปรรูปในรูปแบบอาหารอนาคตอย่างมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดส่งออกต่อไป”