IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | an6n@yahoo.com
จากบริษัท SUEHIRO EPM ประเทศญี่ปุ่น ต่อยอดการวิจัยและการทำต้นแบบนวัตกรรมผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารจากวัตถุดิบของไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากข้าวและธัญพืช นับเป็นความร่วมมือทางเทคโนโลยีครั้งแรกในด้านการแปรรูปอาหาร ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างบีโอไอและจังหวัดมิเอะ เผยญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าด้านอาหารอันดับ 1 ของไทย ขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอาหารอันดับ 4 ของญี่ปุ่น
คาดสิ้นปี 2561ไทยจะส่งออกสินค้าอาหารไปญี่ปุ่นไม่ต่ำกว่า 130,000 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี2560 ส่วนปี 2562 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 8 มูลค่าส่งออกราว 140,000 ล้านบาท
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีเปิดศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ – ประเทศไทย (Mie – Thailand Innovation Center) ว่าความร่วมมือจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ – ประเทศไทยในครั้งนี้ เกิดจากการประชุมหารือร่วมกันเมื่อครั้งเดินทางเยือนจังหวัดมิเอะเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นความร่วมมือที่มีการเชื่อมโยงกับท้องถิ่นในลักษณะLocal to Local ที่ได้มีการหารือแนวทางต่อยอดการดำเนินงานไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีแผนที่จะดำเนินการร่วมกันในอนาคต ทั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันในทุกระดับมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน
โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ในปี 2560 พบว่าญี่ปุ่นยังคงเป็นนักลงทุนอันดับ 1 และมีมูลค่าการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงที่สุดคิดเป็นร้อยละ 47 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด
ในด้านการค้าอาหารนั้น ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอาหารอันดับ 4 ของญี่ปุ่น โดยไทยส่งออกอาหารไปญี่ปุ่นสัดส่วนร้อยละ 13.3 ขณะที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.4 โดยมีสัดส่วนค่อนข้างคงที่ตลอดระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ในปี 2560 ทั้ง 2 ประเทศมีมูลค่าการค้าอาหารรวมกัน 145,000 ล้านบาท โดยไทยส่งออกอาหารไปญี่ปุ่นมูลค่า 135,300 ล้านบาท ขณะที่ญี่ปุ่นส่งออกอาหารมาไทย 9,800 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 คาดว่าไทยจะส่งออกสินค้าอาหารไปญี่ปุ่นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 130,000 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2560 ส่วนในปี 2562 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 8 มูลค่าส่งออกราว140,000 ล้านบาท
โดยสินค้าอาหารที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่น 5 อันดับแรก ได้แก่ ไก่สดและไก่แปรรูป 46% อาหารทะเลสด และแปรรูป 29% (เช่น กุ้งแช่แข็ง ปลาทูน่ากระป๋อง) ผักผลไม้สด และแปรรูป 4% (เช่น มะม่วง กล้วยหอม ทุเรียน ข้าวโพดหวาน สับปะรดกระป๋อง) น้ำตาลทราย4% ข้าว 3% ส่วนสินค้าอาหารที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น 5 อันดับแรก ได้แก่ อาหารทะเลสดแช่เย็นแช่แข็ง 55% (เพื่อแปรรูปในอุตสาหกรรม และใช้บริโภคสด) เครื่องปรุงรส 7% (ใช้ในครัวเรือนและร้านอาหาร/โรงแรม) เนื้อวัวสด/แช่เย็น 3% (ส่วนใหญ่ใช้ในร้านอาหาร/โรงแรม) ผลไม้สด2% และไข่ปลาคาเวียร์ 2% (ส่วนใหญ่ใช้ในร้านอาหาร/โรงแรม)
ปัจจุบันมีบริษัทจากจังหวัดมิเอะถึง 30 บริษัทที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งในอุตสาหกรรมอาหาร เทคโนโลยี เคมีเคิล อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และการท่องเที่ยว เป็นต้น คิดเป็นมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท สำหรับสินค้าอาหารที่มีชื่อเสียง ของจังหวัดมิเอะ อาทิ สินค้าของบริษัทYamamori ผู้ผลิตแกงบรรจุถุงรีทอร์ทเพาช์ และแกงก้อน เช่น แกงกะหรี่ และซอสโชยุ ที่คนไทยรู้จักกันดี มีโรงงานสาขาตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง ผลิตแกงไทยบรรจุถุงรีทอร์ทเพาช์ ส่งออกไปญี่ปุ่น เช่น แกงเขียวหวาน ปูผัดผงกะหรี่ และแกงเผ็ด เป็นต้น
“ผมมั่นใจว่าศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ – ประเทศไทย จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างจังหวัดมิเอะกับประเทศไทย ที่จะช่วยยกระดับและพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม และจะเป็นจุดสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ประเทศ ที่จะช่วยให้เกิดความร่วมมือที่ขยายวงไปในด้านการค้า การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยวระหว่างกันได้ต่อไปในอนาคต”
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ – ประเทศไทยมีเป้าหมาย “ขับเคลื่อนการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทยให้เป็นผู้นำได้ในระดับสากล” มียุทธศาสตร์ที่สำคัญ 3 ด้านดังนี้
1) ยุทธศาสตร์การแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแปรรูปอาหาร ได้แบ่งออกเป็น 2 แนวทางคือ แนวการดำเนินงานทางตาม Agenda base ได้มอบหมายให้สถาบันอาหารเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานโดยจะร่วมกันวิจัยและการทำต้นแบบผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหาร รวมถึงการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกัน และแนวทางตามพื้นที่ หรือ Area baseกระทรวงอุตสาหกรรมได้เน้นกระจายความร่วมมือให้เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นสู่ท้องถิ่น หรือ Local to Local โดยได้กำหนดไว้ 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่จังหวัดสงขลา ศูนย์นวัตกรรมฯ จะเชื่อมโยง กับ ศูนย์ ITC 4.0 ของสถาบันอาหาร ที่ตั้งอยู่ ณ จังหวัดสงขลา และพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จะมีการเชื่อมโยงการทำงานศูนย์นวัตกรรมฯ กับการดำเนินงานโครงการ Northern Food Valley โดยจะมีความร่วมมือกับทางจังหวัดมิเอะด้านการพัฒนา Lanna Matsusaka Beef ความร่วมมือในด้านMedical and Bio-Technology และความร่วมมือเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม
2) ยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากร ในด้านการพัฒนาบุคลากรนี้จะดำเนินการโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในพัฒนาบุคลากรระดับ Leader ในภาคการผลิต โดยจะนำหลักสูตรของ Mie Industry and Enterprise Support Center (MIESC) มาปรับใช้ และ 3) ยุทธศาสตร์การส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ฝ่าย จะเน้นด้านการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ (Business Networking) เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทยจะเข้ามามีส่วนร่วมกับการสร้างเครือข่ายนี้ด้วย
“กระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่าศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ – ประเทศไทย จะช่วยพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี งานวิจัย และนวัตกรรมที่เหมาะสมที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ และยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศให้เป็นผู้นำได้ในระดับสากลได้ในอนาคต หากโมเดลต้นแบบนี้ประสบผลสำเร็จ และมีการขยายเครือข่ายศูนย์นวัตกรรมในรูปแบบเดียวกันไปสู่เชิงพื้นที่ จะเกิดผลกระทบในเชิงรูปธรรมมากขึ้น เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของสถาบันอาหาร และสนองตอบแนวทางการยกระดับนวัตกรรมของประเทศตาม Roadmap ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลที่วางไว้”
นายเอเค ซูซูกิ ผู้ว่าราชการจังหวัดมิเอะ กล่าวว่า จากความร่วมมือในครั้งนี้ทางสถาบันอาหารจะได้รับมอบเครื่องจักรสำหรับแปรรูปอาหารจากบริษัท SUEHIRO EPM เป็นเครื่อง Extruder (เครื่องขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ชนิดรีดขึ้นรูป) เป็นเครื่องจักรที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่นและมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่ง มีประสิทธิภาพในการทำงานที่หลากหลายภายในเครื่องเดียว เช่น การผสม การขึ้นรูป เป็นต้น เรียกได้ว่าเป็นโครงการความร่วมมือทางเทคโนโลยีครั้งแรกในด้านการแปรรูปอาหาร ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างบีโอไอและทางจังหวัดมิเอะ
“การจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ – ประเทศไทย ก็เพื่อแนะนำเทคโนโลยีทางด้านการแปรรูปอาหารของจังหวัดมิเอะให้กับผู้ประกอบการไทย และเพื่อสนับสนุนความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการจากจังหวัดมิเอะ ซึ่งนอกจากการนำเครื่องจักรแปรรูปอาหารเข้ามาใช้ในการวิจัยการและการทดลองแล้ว ยังได้จัดให้มีสัมมนาแนะนำเทคโนโลยีอาหารแปรรูปของอาหารในจังหวัดมิเอะด้วย การเปิดศูนย์ฯ และการรับมอบเครื่องจักรสำหรับแปรรูปอาหารเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและจังหวัดมิเอะ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอุตสาหกรรมทั้งของไทยและจังหวัดมิเอะจะเติบโตก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป”
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ – ประเทศไทย ได้รับการอนุเคราะห์จากบริษัท SUEHIRO EPM ประเทศญี่ปุ่น มอบเครื่องจักรแปรรูปอาหารมูลค่า 25 ล้านเยน มาติดตั้งเพื่อรองรับงานวิจัย ทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร โดยมุ่งเน้นใช้วัตถุดิบของไทย เช่น การนำข้าวหอมมะลิของไทยมาแปรรูป โดยวิจัยเพื่อผลิตสินค้าเชิงพาณิชย์ และให้บริการแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการทดลองผลิตสินค้าต้นแบบ
ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบเครื่องและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่นักวิชาการของสถาบันอาหาร ภายในเดือนธันวาคมนี้จะสามารถเริ่มเดินเครื่องใช้งานได้ โดยทีมนักวิชาการจะทำการวิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์จากการใช้เครื่องจักรนี้ และทีมงานจากบริษัทฯจะมาติดตามความคืบหน้าการทดลองเป็นระยะจนถึงเดือนมีนาคม 2562 ทั้งนี้เครื่องแปรรูปอาหารดังกล่าวเป็นเครื่อง twin screw extruder รุ่น EA-20 มีกำลังการผลิต 20 กิโลกรัม/ชั่วโมง สามารถใช้สำหรับแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว ประเภทข้าวโพดอบกรอบ และข้าวอบกรอบ เป็นต้น
“ศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ – ประเทศไทย เป็นเครื่องมือและกลไกในการเพิ่มศักยภาพด้านนวัตกรรมอาหารของประเทศ ผ่านกิจกรรมการบริการและศูนย์การเรียนรู้ในด้านต่างๆ เช่น การฝึกอบรมเพิ่มทักษะให้กับผู้ประกอบการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบนวัตกรรม การวิจัยนวัตกรรมร่วม การเชื่อมโยงธุรกิจ เป็นต้น ผู้รับประโยชน์โดยตรง คือ กลุ่มผู้ประกอบการอาหารในอุตสาหกรรมกลางน้ำ โดยเฉพาะ SMEs ที่ยังขาดศักยภาพในเชิงทักษะการผลิต รวมทั้งองค์ความรู้ในการพัฒนาสินค้านวัตกรรม สำหรับกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์ในชั้นแรกจากเครื่องจักรที่รับมอบอย่างเป็นทางการในวันนี้ คือ กลุ่มผู้ประกอบการผลิตอาหารจากแป้ง ข้าวและธัญพืช ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ต้องการการพัฒนาอีกมาก เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่ไทยผลิตได้มากแต่ยังขาดการแปรรูปเพิ่มมูลค่าในเชิงพาณิชย์
ขณะที่ผู้รับประโยชน์ทางอ้อม คือ เกษตรกรต้นน้ำ ซึ่งหากมีการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปโดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารนวัตกรรมต่างๆ ก็จะมีความต้องการวัตถุดิบที่ดีและมีคุณภาพตามมา เกษตรกรที่สามารถมองเห็นลู่ทางและโอกาสดังกล่าวก็จะสามารถวางแผนการผลิตและพัฒนาสินค้าเกษตรของตนให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการปลายน้ำ เช่น ร้านค้า ผู้บริโภค ก็จะมีสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานเพื่อเป็นทางเลือกมากขึ้น
Mr.Hiroshi Sakama ประธานบริษัท Suehiro EPM