IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | an6n@yahoo.com
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 60.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 51.52เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 59.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 0.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 61.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล ลดลง 1.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 72.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- นักลงทุนกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงหลากหลาย โดยเฉพาะประเด็น Brexit ซึ่ง วันที่ 12 ธ.ค. 61 นายกรัฐมนตรีอังกฤษ นาง Theresa May ผ่านการลงมติไม่ไว้วางใจจากสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยม ล่าสุดรัฐบาลประกาศเลื่อนการลงมติต่อร่างข้อตกลงแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit ในรัฐสภาอังกฤษ โดยไม่มีกำหนด เพราะมองว่าการลงมติตอนนี้ญัตติดังกล่าวอาจไม่ผ่านความเห็นชอบของสภา ขณะที่กรณีสงครามการค้า Trade War มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นหลัง สหรัฐฯ ประสานให้แคนาดาควบคุมตัว CFO บริษัท Huawei และจีนตอบโต้โดยการกักตัวชาวแคนาดา
- Energy Information Administration (EIA) คาดการณ์สหรัฐฯ จะผลิตน้ำมันดิบในปี พ.ศ. 2562 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 12.06 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้น 20,000 บาร์เรลต่อวัน จากการคาดการณ์ครั้งก่อน)
- กระทรวงน้ำมันอิรักแถลงหน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดิบขนาด 200,000 บาร์เรลต่อวัน ที่แหล่ง Halfaya ทางตอนใต้ของประเทศ ก่อสร้างแล้วเสร็จส่งผลให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น 100,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 370,000 บาร์เรลต่อวัน และจะอยู่ที่ระดับ 470,000 บาร์เรลต่อวัน ในไตรมาส 1/62
- International Energy Agency (IEA) รายงานซาอุดีอาระเบียผลิตน้ำมันดิบในเดือน พ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 410,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 11.06 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ OPEC ผลิตน้ำมันดิบ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 100,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 33.03 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- CFTC รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดนิวยอร์กและตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ธ.ค. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 12,624 สัญญา มาอยู่ที่ 132,149 สัญญา ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ส.ค. 59 โดยสถานะถือครองทั้งหมด (Gross)แตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 56
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- หน่วยงานศุลกากรจีน (General Administration of Customs หรือ GAC) รายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ เดือน พ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.5% มาอยู่ที่ 10.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จีนนำเข้าน้ำมันดิบสูงกว่าระดับ 10.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- วันที่ 10 ธ.ค. 61 บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (NOC) ประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara (กำลังการกลั่น 315,000 บาร์เรลต่อวัน) และ El Feel (กำลังการกลั่น 73,000 บาร์เรลต่อวัน) เนื่องจากกองกำลังติดอาวุธเข้ายึดแหล่งผลิตน้ำมันดังกล่าว
- EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ธ.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 442 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 1 เดือน
- Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ธ.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4 แท่น มาอยู่ที่ 873 แท่น ลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 2
- ICE รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ธ.ค. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3,131 สัญญา มาอยู่ที่ 139,597 สัญญา
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวันศุกร์ลดลงตามตลาดหุ้น Wall Street ของสหรัฐฯ หลังยอดขายปลีกในจีน เดือน พ.ย. 61 เติบโตเพียง 8.1% ต่อปี ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 15 ปี โดยยอดขายรถยนต์หดตัว 10.0% ต่อปี หดตัวมากสุดในรอบเกือบ 7 ปี ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมโตเพียง 5.4% ต่อปี ขยายตัวต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี ท่ามกลางความวิตกกังวลของนักลงทุนต่อประเด็นสงครามการค้า ส่วนปัจจัยด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Funds Flow) ราคาน้ำมันถูกกดดันจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือน เนื่องจากมีการโยกย้ายกลับมาลงทุนในสินทรัพย์มั่นคง (Safe Haven) เช่น เงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินเยนญี่ปุ่น แทนสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น สกุลเงินเอเชีย และน้ำมันในยามที่สภาพเศรษฐกิจโลกเต็มไปด้วยความเสี่ยง ประกอบกับนักลงทุนคาดหมายว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วงกลางสัปดาห์นี้ ส่วนความเคลื่อนไหวทางการเมืองโลกซึ่งนักลงทุนกำลังติดตาม ล่าสุด รัฐบาลสหราชอาณาจักรยืนยันว่าจะไม่มีการทำประชามติ Brexit รอบใหม่ และกำลังปรับเปลี่ยนร่างข้อตกลงเล็กน้อยเพื่อให้สามารถผ่านรัฐสภา ซึ่งขณะนี้การลงมติในรัฐสภาถูกเลื่อนออกไป โดยยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นช่วงคริสต์มาสหรือช่วงปีใหม่ ขณะเดียวกันนักลงทุนพุ่งความสนใจไปที่สุนทรพจน์ของประธานาธิบดี Xi Jinping เนื่องในงานครบรอบ 40 ปีการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีนในวันนี้ นอกจากนี้ ให้จับตาความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับสหรัฐฯ ล่าสุด ซาอุฯ ออกมาประณามวุฒิสภาสหรัฐฯ ซึ่งมีมติให้กองทัพสหรัฐฯ ยุติความช่วยเหลือกองทัพซาอุฯ ในสมรภูมิเยเมนเนื่องจากกล่าวอ้างว่ามกุฎราชกุมาร Mohammed bin Salman เป็นผู้สั่งการสังหารนาย Jamal Khashoggi นักข่าว Washington Post ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ของสหรัฐฯ และสุดท้ายแล้ว สภาคองเกรสจะไม่ผ่านมติดังกล่าวออกมาเป็นกฎหมาย ส่วนทางด้านกาตาร์ซึ่งจะออกจากการเป็นสมาชิก OPEC ในปีหน้า ล่าสุด มีแผนจะซื้อหุ้น Deutsche Bank ของเยอรมนีเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ถืออยู่ 6.1% เป็นมากกว่า 9% ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 58.0-63.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 49.0-54.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 57.0-62.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากโรงกลั่น Nghi Son (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) ของเวียดนามเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ วันที่ 14 พ.ย. 61 ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติมาเลเซียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซิน เดือน ต.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.2 % อยู่ที่ระดับ 134,000 บาร์เรลต่อวัน และปริมาณการผลิต เดือน ม.ค. – ต.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9 % อยู่ที่ 137,000 บาร์เรลต่อวัน และ EIA รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ธ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 228.3 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 1 เดือน อย่างไรก็ตาม Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานยอดขาย น้ำมันเบนซิน ในประเทศ เดือน พ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.7 % มาอยู่ที่ 660,000 บาร์เรลต่อวัน และ Petroleum Association of Japan (PAJ) ของญี่ปุ่นรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซิน สัปดาห์สิ้นสุด 8 ธ.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.9 % อยู่ที่ 6.07 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ธ.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 250,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 13.63 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 59.5-64.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงเนื่องจาก Platts รายงานตลาดน้ำมันดีเซลในยุโรปซบเซา หลังอุณหภูมิในเยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงฤดูหนาวไม่เย็นจัดส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลสำหรับทำความอบอุ่นไม่แข็งแกร่งมากนัก ขณะที่ Federal Waterways and Shipping Administration (WSV) ของเยอรมนีพยากรณ์ระดับน้ำของแม่น้ำไรน์เริ่มสูงขึ้นทำให้เรือ Barge ขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปไปยังบริเวณภาคพื้นทวีปได้ ประกอบกับ Platts รายงานโรงกลั่นจีนมีแผนส่งออกน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น ในเดือน ธ.ค. 61 หลังทางการเพิ่มโควตาส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ปริมาณ 15 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นโควตาน้ำมันดีเซลปริมาณ 9.75 ล้านบาร์เรล ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ธ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 300,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.92 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ธ.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 124.1 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 69.5-74.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล