IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | an6n@yahoo.com
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ (ที่ 2 จากขวา) ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (“ปตท.”) เปิดเผยว่า บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (“PTT Tank Terminal Company Limited : “PTT Tank”) ซึ่งถือหุ้นโดย ปตท.ร้อยละ100 ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (Gulf Energy Development Public Company Limited: “GULF”) ภายใต้ชื่อ บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจีเทอร์มินอล จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 3,500 ล้านบาท
โดย PTT Tank ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 30 และ GULF ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 70 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด โดยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนดังกล่าวได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ปตท. ครั้งที่ 6/2562 โดยบริษัทมีวัตถุประสงค์เพื่อการดำเนินธุรกิจทั้งด้าน LNG Value Chain และด้านโลจิสติกส์เพื่อสนับสนุนการลงทุนอื่นๆ ในอนาคต ตามแผนกลยุทธ์ของ ปตท. ทั้งยังเป็นการสร้างพันธมิตรเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดย บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด ได้เข้าทำสัญญาร่วมลงทุนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) กับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ที่มีมูลค่าการลงทุนร่วมกันในส่วนของการถมทะเลประมาณ 12,900 ล้านบาท และสิทธิในการก่อสร้าง LNG Terminal ช่วงที่ 1 ขนาดไม่ต่ากว่า 5 ล้านตัน เป็นเงินลงทุนประมาณ 28,000 ล้านบาท รวมการลงทุนทั้งหมดประมาณ 40,900 ล้านบาท
ทั้งนี้ ทางคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมทุน PPP สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1)ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเสนอมา
ท่าเรือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ เพราะเป็นประตูการค้าและการลงทุน ซึ่งในระยะที่ 3 เป็นการลงทุนสร้างท่ารับจ่าย LNG เพิ่มอีก 5 ล้านตันต่อปี
“จากปัจจุบันที่ ปตท. มีท่ารับ LNG อยู่แล้ว 2 แห่ง ที่มาบตาพุดและหนองแฟบ รวม 19 ล้านตันต่อปี แต่อาจไม่เพียงพอต่อการใช้ก๊าซในอนาคตจึงต้องลงทุนสร้างท่ารับ LNG เพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโต” นายอรรถพล กล่าว
โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ประตู่สู่อาเซียนแบบไร้รอยต่อ
โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เป็น 1 ใน 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC Project List มีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 55,400 ล้านบาท และจะเป็นโครงการแรกที่เริ่มปักหมุดลงทุนในพื้นที่ EEC หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ไฟเขียวขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดรวมพื้นที่ถมทะเล 1,000 ไร่ เพื่อเดินหน้าโครงการก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1
โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnership (PPP NET Cost) กับ บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด หนุนไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สร้างอนาคตประเทศไทย คาดเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2568
โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ซึ่ง กนอ. และกัลฟ์ เอ็มทีพีฯ ลงนามสัญญาร่วมทุนกันในครั้งนี้ จะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยบริษัทคู่สัญญาที่ได้ลงนามในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 จะเข้าไปพัฒนาพื้นที่ได้ทันที และจะได้สิทธิพัฒนาพื้นที่ท่าเรือ (Superstructure) ประมาณ 200 ไร่ รวมมูลค่าการลงทุนประมาณ 47,900 ล้านบาท แบ่งเป็น กนอ. ร่วมลงทุนไม่เกิน 12,900 ล้านบาท และเอกชน 35,000 ล้านบาท ได้แก่ การขุดลอกและถมทะเลพื้นที่ 1,000 ไร่ (แบ่งเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่), การขุดลอกร่องนํ้าและแอ่งกลับเรือ, การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ, ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเรือรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายใน ปี 2568
ส่วนโครงการในช่วงที่ 2 จะเป็นการลงทุนพัฒนาก่อสร้างในส่วนท่าเรือ (Superstructure) ซึ่ง กนอ. จะประกาศ TOR เชิญชวนเอกชนที่สนใจเข้าร่วมประมูล โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้าเหลว รองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าเหลวได้ 4 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเปิดให้บริการภายในปี 2568 ซึ่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,300 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่หลังท่า จำนวน 150 ไร่ เงินลงทุน 3,200 ล้านบาท เพื่อรองรับธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เพราะปัจจุบันการใช้งานท่าเรือมาบตาพุดใกล้เต็มศักยภาพแล้ว จึงต้องขยายเป็นระยะที่ 3 เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซ LNG และสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดว่าจะรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวได้เพิ่มอีก 14 ล้านตันต่อปี ในอีก 30 ปีข้างหน้า
สำหรับโครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ที่ดำเนินการโดย บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ในสัดส่วน 70% และอีก 30% ถือหุ้นโดย บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด
ทั้งนี้ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินอล จำกัด ก่อตั้งวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2551 โดยคณะกรรมการปตท.ได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งบริษัทฯ เพื่อให้บริการท่าเรือและถังเก็บผลิตภัณฑ์เหลวให้กับบริษัทในกลุ่มบริษัท ปตท.โดยมีทุนจดทะเบียน 2,500 ล้านบาท
ด้าน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลงนามดังกล่าวถือเป็นโครงการแรกที่บรรลุความสำเร็จในการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งจะสนับสนุนให้มาบตาพุดเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และคาดหวังว่าจะมีความร่วมมือในโครงการที่สองตามมาคือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่จะดำเนินการได้เสร็จก่อนและผลักดันโครงการที่เหลือ ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก, โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ให้แล้วเสร็จทั้งหมด ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในการเริ่มต้นลงทุนโครงการขนาดใหญ่ และสร้างอนาคตให้กับประเทศไทย
“โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะ 3 ช่วงที่ 1 นับเป็น 1 ใน 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักในเขต EEC ซึ่งเป็นโครงการแรกในการเซ็นสัญญาร่วมทุน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2568 และมั่นใจว่าจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น และทำให้เกิดการเชื่อมต่อระบบขนส่งแบบไร้รอยต่อของไทยเพื่อเชื่อมสู่ประตูเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ CLMVT” นายสมคิด กล่าว
ขณะที่ นางสาวสมจิณณ์ พิลึก (ที่ 2 จากขวา) ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า หลังจากนี้ กนอ. และกัลฟ์ เอ็มทีพีฯ จะต้องขอใบอนุญาต จำนวน 3 ใบ ได้แก่ 1.ใบอนุญาตถมทะเลจากกรมเจ้าท่า 2.ใบอนุญาตนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และ 3.ใบอนุญาตกักเก็บและแปรสภาพ LNG จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งจะขอใบอนุญาตถมทะเลก่อน เพื่อขุดลอกลำน้ำเพื่อนำทรายมาถมทะเล คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี หลังจากนั้นจึงจะก่อสร้างท่าเทียบเรือ อีกประมาณ 2 ปี รวมระยะเวลาดำเนินการยังอยู่ในกรอบเวลา 5 ปี
ทั้งนี้ ภายหลังการลงนาม กนอ. จะส่งมอบพื้นที่ให้กับบริษัทคู่สัญญาเข้าสำรวจออกแบบรายละเอียดและก่อสร้างในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นไปตามสัญญาร่วมทุนฯ โดยเมื่อส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนคู่สัญญาแล้ว สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดดังกล่าว โดยมี 5 ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้แทนจาก กนอ., ผู้แทนจาก สกพอ., ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด, ผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้แทนจากบริษัทเอกชนร่วมลงทุน เพื่อเข้ามากำกับดูแลการพัฒนาให้เป็นไปตามสัญญาการร่วมลงทุน ต่อไป
นอกจากนี้ กนอ. ยังเตรียมยื่นเอกสารต่อกรมเจ้าท่า เพื่อให้การพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ทั้งในส่วนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และส่วนระบบสาธารณูปโภคภายในพื้นที่ท่าเรือฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายการขออนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเดินเรือในน่านน้ำไทย อย่างถูกต้อง รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนตามมาตรการที่กำหนดในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ, คุณภาพสิ่งแวดล้อม, สุขภาพ, อนามัย และคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบพื้นที่
ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่หน้าท่า 550 ไร่ และพื้นที่หลังท่า 450 ไร่ ความยาวหน้าท่ารวมกัน 2,229 เมตร