November 24, 2024

Login to your account

Username *
Password *
Remember Me

Create an account

Fields marked with an asterisk (*) are required.
Name *
Username *
Password *
Verify password *
Email *
Verify email *
Captcha *
Reload Captcha

ปตท.สผ. หัวใจของธุรกิจ คือ ภารกิจส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้คนไทยมีพลังงานใช้ไม่สิ้นสุด

"บงกช เมดอินบงกช จะผลิต จะเจาะ จะเสาะหา ให้ทุกชีวิตได้ยิ้มออก จากเหนือไปจรดแดนใต้ ขวานทองฝั่งซ้ายสุดทิศตะวันออก ทุ่มเทแรงใจ ดูแลบงกชโดยคนไทย และเราจะทำต่อไปเป็นคำสัญญาที่อยากจะบอก…."

https://www.youtube.com/watch?v=X6MvZ0HQlG4&feature=youtu.be

ส่วนหนึ่งของเนื้อเพลงในมิวสิควิดีโอ "MADE IN BONGKOT" ที่เรียกเสียงฮือฮาจากชาวเน็ตได้ไม่น้อย เมื่อ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จัดทำและเผยแพร่ MV ดังกล่าวออนไลน์ ในโอกาสที่แหล่งบงกช แหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญกลางอ่าวไทย ได้ดำเนินการผลิตมาจนครบ 25 ปีเต็มในปีนี้ โดยนอกจากจะมีความแปลกใหม่ในการทำเพลง ด้วยการนำเอาวิธีการแรปที่ฮิตติดลมบนกันทั่วบ้านทั่วเมือง มาผสานเข้ากับการร้องแบบโอเปร่า ที่ได้ "เจ เจตมนต์" และ "สันติ ลุนเผ่" มาฟีเจอริ่งกันแบบลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ เนื้อหาสุดกินใจของเพลงนี้ ยังสร้างมาจากเรื่องจริงแบบ Base on true story ของชาวแท่นบงกชอีกด้วย

วันนี้เรามีโอกาสได้มาพูดคุยกับชาวบงกชตัวจริงเสียงจริง ที่เรื่องราวของพวกเขาโลดแล่นอยู่ในเพลง "MADE IN BONGKOT" เชื่อว่าเมื่ออ่านเรื่องราวของพวกเขาแล้ว ก็จะเข้าใจได้ว่าภารกิจของพวกเขา ไม่ใช่เพียงการส่งต่อพลังงานให้คนไทยได้ใช้อย่างต่อเนื่อง ตลอด 24 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ยังทำให้คนไทยมีองค์ความรู้ในการเสาะหาพลังงานเป็นของตัวเอง และส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ประเทศไทยพึ่งพาตนเองทางพลังงานได้อย่างยั่งยืนมาตลอด 25 ปีที่ผ่านมา

พกพาความรู้กลับบ้าน ผลิตก๊าซฯ ด้วยมือคนไทย

แหล่งบงกชในยุคบุกเบิกมี “โททาล” บริษัทน้ำมันชั้นนำของโลกจากฝรั่งเศสเป็นผู้ดำเนินการ โดยทีม ปตท.สผ. คนไทย ถูกส่งไปเรียนรู้งานด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมตามแหล่งต่าง ๆ ของโททาลทั่วโลก ตั้งแต่เทคนิคทางวิศวกรรม การออกแบบโครงสร้าง การสำรวจ การเงินการบัญชี ทรัพยากรบุคคล เพื่อกลับมาพัฒนาแหล่งบงกช

เราเริ่มต้นพูดคุยกับ “วุฒิพล ท้วมภูมิงาม” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานโครงการผลิต ปตท.สผ. ว่าการเรียนรู้งานกับ “ฝรั่ง” เป็นประสบการณ์ที่ท้าทาย โดยมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นอุปสรรคใหญ่ และเป็นประสบการณ์ที่รุ่นบุกเบิกไม่เคยลืม

“ปี 2532 ผมได้รับโทรศัพท์จากหัวหน้าให้ไปเรียนรู้งานที่ต่างประเทศเพื่อกลับมาทำงานในโครงการบงกช ตอนนั้นก็รู้สึกภูมิใจ เพราะว่ามีวิศวกรไทยที่ได้รับเลือกอยู่แค่สองคน ผมเป็นหนึ่งในนั้น หลังจากนั้นก็มีเวลาเตรียมตัวเพียง 2 สัปดาห์ก่อนจะบินไปฝรั่งเศส ช่วงนั้นผมรับผิดชอบเรื่องของการออกแบบอุปกรณ์การผลิต

หลังจากนั้น ก็ย้ายไปเรียนงานต่อที่สิงคโปร์ โดยดูเรื่องของรายละเอียดต่าง ๆ บนแท่น รวม ๆ แล้ว 2 ประเทศ ใช้เวลาประมาณ 2 ปี งานด้านออกแบบก็จบ พร้อมสำหรับการสร้างแท่นและเริ่มปฏิบัติการในแหล่งบงกช

ทำไมเราต้องเรียนรู้จากต่างชาติ? “เมื่อก่อนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นวิทยาการค่อนข้างใหม่ เรายังไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ ตอนแรกที่รัฐบาลมอบหมายให้ ปตท.สผ. พัฒนาแหล่งบงกช จึงต้องส่งคนไปเรียนรู้กับฝรั่ง เพื่อที่ว่าวันหนึ่งเราคนไทยจะได้ทำงานแทนที่พนักงานต่างชาติเหล่านั้นได้” 

 

 

นับจากวันแรกที่แหล่งบงกชเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติในปี 2536 ทีมงาน ปตท.สผ.ต้องเร่งเรียนรู้ Know-how จากโททาล ก่อนจะรับโอนการเป็นผู้ดำเนินการ (Operatorship Transfer) ในอีก 5 ปีต่อมาให้ได้ โดยวุฒิพลเล่าถึงการทำงานใน 5 ปีแรกนั้นว่า ผู้ปฏิบัติงานในยุคบุกเบิกส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตกกว่า 80% ซึ่งมีวัฒนธรรมการสอนงานที่แตกต่างจากชาวเอเชีย คือ เขาจะให้เราเรียนรู้ด้วยตัวเอง ด้วยการสังเกตและจดจำ “เวลาฝรั่งเขาสอนงาน เขาไม่ได้สอนตรงๆ ก็ต้องอาศัยสังเกตเขา เวลาสั่งงาน บางทีเขาสั่งเลย ไม่ได้มาอธิบายว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งมันก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือเราสามารถเรียนรู้งานได้ด้วยตัวเอง ข้อเสียคือมันอาจเสียเวลาหน่อยกว่าจะจับได้ถูกทาง บรรยากาศก็กดดันพอสมควร เพราะเรามีเป้าหมายชัดเจนว่าอีก 5 ปี เราต้องเป็นผู้ดำเนินการเอง ต้องพยายามทำให้ได้ มันมีทั้งความทั้งผิดหวัง เสียใจ และก็สมหวัง ผสมกันตลอด 5 ปีนั้น และในที่สุดเราก็ทำได้” การถ่ายโอนสิทธิการเป็นผู้ดำเนินการหรือ Operatorship Transfer ของแหล่งบงกช จาก     โททาลเป็น ปตท.สผ. ที่สำเร็จลุล่วงด้วยดีในปี พ.ศ. 2541 จึงเป็นบทพิสูจน์ว่าคนไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้ดำเนินงานด้านสำรวจและผลิต ในฐานะผู้ดำเนินการแหล่งก๊าซฯ ได้ด้วยตนเอง

คนที่เคยเป็นผู้เรียนรู้ จะกลายเป็นครูให้รุ่นน้อง

จากจุดเริ่มต้นที่เรียนรู้จากโททาล เมื่อได้มาเป็นผู้ดำเนินการเอง เราได้มีการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ ซึ่งตลอด 25  ปี แหล่งบงกชทำหน้าที่เป็นสถาบันแห่งการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของไทย และผลิต “นักเรียน” ไปแล้วหลายรุ่น ผสมผสานความรู้จากคนต่างยุคสมัยเข้าด้วยกัน ดังนั้นนอกจากจะเป็นสถาบันแห่งการเรียนรู้แล้ว ที่แห่งนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นในการ “ส่งต่อ” องค์ความรู้อีกด้วย

“ประทีป มหาสวัสดิ์” ผู้จัดการแท่นผลิตบงกชเหนือ ปตท.สผ. เขาใช้เวลา 21 วันไปกับการทำงานเพื่อบริหารจัดการแท่นบงกชให้สามารถเดินหน้าผลิตก๊าซธรรมชาติได้อย่างต่อเนื่อง กับอีก 21 วัน ที่เขาจะได้กลับบ้านอยู่กับครอบครัวที่เขารัก ในวันนี้ที่คนรุ่นก่อนได้เติบโตก้าวสู่ระดับผู้บริหาร พร้อม ๆ กับการเข้ามาแทนที่ด้วยคนรุ่นใหม่ ๆ คนที่เคยเป็นผู้เรียนรู้ในอดีต วันนี้ จึงกลายเป็นผู้ที่สอนงานให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป

ซึ่งดูเหมือนว่าประทีป จะต้องรับมือกับความแตกต่างในจุดนี้เป็นเรื่องสำคัญ “กว่าจะได้เริ่มทำงานที่แท่นบงกช ผมต้องไปอบรมที่อาบูดาบีอยู่ 12-13 เดือนกับอุปกรณ์จริง ๆ เพื่อจะได้ลงมือทำจริง ตอนนั้น ระดับหัวหน้าขึ้นไปเป็นชาวต่างชาติทั้งหมดเลย แรก ๆ ก็มีปัญหาเรื่องภาษาบ้าง เราก็กัดฟันสู้ เพราะเรารู้ว่า เราจะได้กลับบ้าน เราจะได้กลับไปทำงานให้ชาติ” เขาเปิดบทสนทนา

 

 

เมื่อเราถามถึงการรับมือกับคนรุ่นใหม่ ๆ ประทีปตอบว่า “พอเรากลับมาทำงานกับคนไทยด้วยกัน ก็มีความสนิทใจกันมากขึ้น การรับมือกับเด็กรุ่นใหม่ ๆ ตอนแรกก็ยาก เพราะเวลาที่เราสั่งงาน น้อง ๆ ก็มักจะมีคำถามกลับมาเสมอว่าทำไปทำไม แต่พอเริ่มจับทางถูก เราก็เข้าใจว่าการที่เขาถามอย่างนั้น ก็เพราะว่าตัวเขาเองจะได้ลองคิดหาวิธีการใหม่ ๆ ที่อาจจะได้ประสิทธิภาพมากกว่าเดิม หรือผลลัพธ์ดีขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น การทำงานกับคนรุ่นใหม่ เราต้องชัดเจนว่าต้องการอะไร เพราะอะไร และให้โอกาสเขาลองผิดลองถูก โดยเราคอยดูอยู่ห่าง ๆ และเป็นที่พึ่งเวลาเขาเจอปัญหา”

มีแนวทางการผสานคนหลายร้อยให้ทำงานร่วมกันอย่างไร “เราอยู่กันแบบพี่น้อง ไม่แบ่งแยกกัน ต้องยอมรับว่าการทำงานของเรายากขึ้นทุกวัน เพราะเรามีเครื่องไม้เครื่องมือเยอะขึ้น แต่ว่ามีคนเท่าเดิม การบริหารคนให้มีประสิทธิภาพเป็นเรื่องสำคัญมาก และต้องอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยสูงสุด สิ่งหนึ่งที่ผมสอนทุกคนเสมอ ก็คือต้องเรียนรู้สิ่งใหม่เสมอ การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น” ประทีปกล่าว

บงกชไม่ใช่แค่ที่ทำงาน แต่มันคือบ้านหลังที่สอง

สุภาพสตรีที่นั่งอยู่ข้างหน้าเราคือสาวแกร่งที่ปฏิบัติงานบนแท่นบงกช ทว่ามีท่าทางกริยาอ่อนหวาน เราจึงเปิดประเด็นกับ “กนกพร สินธวารยัน” วิศวกรกระบวนการผลิต ฝ่ายวิศวกรรมอุปกรณ์การผลิต ปตท.สผ. เรื่องการปรับตัวในบ้านหลังที่สองของเธอว่า “แรกๆ ไม่รู้จักใครเลย ผู้ชายแต่ละคนก็หน้าตาน่ากลัวกันทั้งนั้น (หัวเราะ) ช่วงแรกเขาก็จะทำหน้านิ่งๆ แต่พอลองพูดคุยด้วยเรื่องต่าง ๆ นานา สักประมาณ 3 เดือน ก็เริ่มรู้จักกัน และค่อยๆ ปรับตัวเข้าหากัน”

ผู้หญิงบนแท่นมีน้อย? “ใช่ค่ะ มีภาวะเกิร์ลแก๊ง ผู้หญิงก็จะนอนห้องเดียวกัน รอบการทำงานบนแท่นฯ ก็มีผู้หญิงสัก 2-3 คน ก็จะเริ่มจับกลุ่มกันบ้าง” ปกติผู้หญิงทำอะไรบนแท่นยามว่าง “T25 ค่ะ (หัวเราะ) ก็มีฟิตเนสบ้าง บางทีก็ลงไปวิ่ง แต่ไม่ได้ถึงกับลงไปเตะบอลกับพี่ๆ เขา บางทีก็มีร้องเพลง เขามีเล่นดนตรี ก็ไปร้องเพลง ซ้อมดนตรีบ้าง”

เมื่อเราพูดคุยถึงการทำงานบนแท่งบงกช กนกพรเล่าว่า “พี่ๆ เขาค่อนข้างให้ความใส่ใจดี แต่ที่สำคัญกว่าคือการเปิดใจและรับฟังความคิดเห็นของเรา บางทีเราเห็นในสิ่งที่เขาไม่เห็น เราก็เสนอไอเดียได้ ถ้าสามารถพิสูจน์ว่าไอเดียนั้นสามารถทำได้จริง และเพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผลของการทำงานด้วยแล้ว พี่ๆ เขาก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน เรารู้สึกว่าเขาเห็นคุณค่าของพลังเล็กๆ อย่างเรา การที่เรามีการส่งต่อองค์ความรู้ มันไม่ใช่แค่เรียนรู้มา แต่มันต่อยอดไปได้เรื่อยๆ จุดนี้เป็นจุดที่รู้สึกว่าการทำงานกลายเป็นเรื่องสนุกสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่สำคัญอีกอย่างคือที่ ปตท.สผ. ให้โอกาสได้เรียนรู้งานหลากหลายมาก การได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติงานจริงทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นหน้างานมากขึ้น เวลาจะปรับเปลี่ยนอะไร พัฒนาอะไร ก็จะอิงกับความเป็นจริงว่ามันจะต้องสะดวกต่อคนที่ใช้งานเครื่องมืออุปกรณ์นั้นจริง ๆ”

 

 

เมื่อเราถามถึงสิ่งที่กนกพรได้เรียนรู้จากแท่นบงกชนอกเหนือจากการทำงาน เธอยิ้มแล้วเล่าว่า “อย่างแรกคือความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ เราได้เห็นฉลามวาฬมาว่ายน้ำรอบแท่นหลายครั้ง ทำให้รู้สึกว่าเรายิ่งต้องเข้มงวดกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ อย่างที่สองคือเรื่องความรักครอบครัว ส่วนใหญ่คนที่อยู่บนนั้นรักครอบครัวนะ อย่างตอนเย็นก็จะเห็นคนเป็นพ่อเฟสไทม์คุยกับลูก ได้เห็นด้านอ่อนโยนที่ปกติตอนทำงานไม่เห็น ซึ่งถ้าเป็นการทำงานในออฟฟิศ ถ้าเลิกงาน ก็แยกย้ายกันกลับบ้าน     ก็คงไม่เห็นด้านอ่อนโยนแบบนี้”

การจัดการความสัมพันธ์กับครอบครัวของจึงเป็นเรื่องสุดท้ายที่เราขอให้กนกพรเล่าถึง “ที่บ้านค่อนข้างชินกับการที่เราต้องเดินทางบ่อยๆ เพราะตั้งแต่ทำงานก็เดินทางบ่อยมาตลอด ช่วงแรกที่เข้ามาทำงานก็จะอยู่ที่แหล่งสิริกิติ์ พิษณุโลก ตอนนั้นก็ต้องเดินทางทุกสัปดาห์เลย มีบินไปต่างประเทศเดือนสองเดือน ครอบครัวก็เข้าใจดีค่ะ ถ้าพูดถึงการทำงานบนแท่น เขาก็ห่วงนะ แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นไม่ให้ไป เพราะเขาไว้ใจกับมาตรฐานความปลอดภัยของบริษัท”

ภารกิจของพวกเขาทั้งสามคนในวันนี้คือการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่แค่ให้คนไทยมีพลังงานจากปิโตรเลียมใช้ แต่ต้องมีองค์ความรู้ในการแสวงหาพลังงานที่เป็นของคนไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย อย่างแท้จริง...

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Monday, 19 November 2018 12:20
ชุติมา ธรรมเที่ยง

Author : เกาะติดข่าวขนส่งและโลจิสติกส์ การจัดการระบบขนส่ง หรือการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ ทั้งภาคพื้นดิน ทางเรือ และทางอากาศ รวมไปถึงกระบวนการจัดการและวางแผนสินค้าคงคลัง การจัดเก็บ การควบคุม และศุลกากร

Leave a comment

Make sure you enter all the required information, indicated by an asterisk (*). HTML code is not allowed.


  
X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM