IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | an6n@yahoo.com
กระทรวงคมนาคม แจ้งว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 ได้มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)ดำเนินโครงการ ระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน- ศิริราช แล้วในกรอบวงเงิน 6,645.03 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ดำเนินการ ประกวดราคาจ้างก่อสร้างตามขั้นตอนของ พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหาร พัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยรัฐบาล รับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายปี และหรือกระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้และค้ำประกันเงินกู้ภายในประเทศให้ตามความเหมาะสม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการ
สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช เป็นโครงการตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2560 (Action Plan) เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศภายใต้ แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่งของไทยในระยะยาว พ.ศ.2558-2565 โดยโครงการดังกล่าวเป็นส่วนต่อขยายของ รถไฟชานเมืองสายสีแดงทางฝั่งทิศตะวันตก ของกรุงเทพมหานคร ที่จะเชื่อมต่อการเดินทางจากสถานีตลิ่งชัน ไปยังบริเวณ โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเส้นทางรถไฟของช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช จะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ที่สถานีจรัญสนิทวงศ์ และเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ที่สถานีศิริราช ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถในการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นใน ได้อย่างสะดวก มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช มีระยะทาง 5.70 กิโลเมตร ประกอบด้วย ทางระดับพื้น ระยะทาง 4.3 กิโลเมตร ทางรถไฟยกระดับ ระยะทาง 1.4 กิโลเมตร (บริเวณสถานีจรัญสนิทวงศ์)
ขณะที่มีจำนวน 3 สถานี ได้แก่ 1.สถานีตลาดน้ำตลิ่งชัน (ระดับพื้น) 2.สถานีจรัญสนิทวงศ์ (ยกระดับ)3.สถานีธนบุรี-ศิริราช (ระดับพื้น) โดยแนวเส้นทางโครงการมีจุดเริ่มต้นบริเวณสถานีธนบุรี-ศิริราช วิ่งไปทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ไปสิ้นสุดที่สถานีตลาดน้ำตลิ่งชัน ซึ่งในการออกแบบทางรถไฟในโครงการเป็นการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ เพิ่ม 3 ทาง ขนานไปกับทางรถไฟเดิม (At Grade) และทางยกระดับ (Elevated)
ด้าน นายวรวุฒิ มาลา รักษาการ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ว่า เดิมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีกำหนดแจ้งให้กลุ่มกิจการ ร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (กลุ่มซีพี)และพันธมิตร ทราบในวันที่ 5 มีนาคมนี้ ว่า คณะกรรมการ ที่ไม่ยอมรับ เงื่อนไขของกลุ่มซีพี 12 ข้อ เนื่องจากเป็นข้อเสนอที่ขัดต่อมติครม.และร่างเงื่อนไขการประกวดราคา ทางกลุ่มซีพีจึงขอเลื่อนการเจรจาไปเป็นวันที่ 13 มีนาคมนี้ เพื่อหารือกลุ่มพันธมิตรก่อน จึงจะเข้าเจรจากับ คณะกรรมการฯอีกครั้ง
สำหรับการเจรจาระหว่าง คณะ กรรมการ กับกลุ่มซีพี เมื่อเริ่มไปแล้ว แต่การเจรจายังไม่ถึงที่สุด ก็จำเป็นที่จะต้องให้ทั้ง 2 ฝ่าย เจรจาให้ได้ข้อยุติ เพราะหากเป็นการยกเลิกการเจรจาฝ่ายเดียวอาจทำให้เกิดปัญหามีการฟ้องร้องตามมาได้
ส่วนจะประสานกลุ่มบีทีเอส (ผู้เสนอราคาต่ำอันดับสอง) มาเจรจาหรือไม่ นายวรวุฒิกล่าวว่า ยังไม่มีการประสานกับกลุ่มอื่นแต่อย่างใด โดยจะรอให้การเจรจากับกลุ่มซีพีได้ข้อยุติชัดเจนก่อน