November 24, 2024

Login to your account

Username *
Password *
Remember Me

Create an account

Fields marked with an asterisk (*) are required.
Name *
Username *
Password *
Verify password *
Email *
Verify email *
Captcha *
Reload Captcha

ผ่าขุมพลัง“เบสท์ โลจิสติกส์” อาลีบาบาส่งบุกไทย..!!

“เบสท์ โลจิสติกส์” ยักษ์ขนส่ง อาลีบาบาถือหุ้นใหญ่รุกไทย หลังธุรกิจอีคอมเมิร์ซโตวันโตคืน มูลค่าแตะ 3 ล้านล้านบาท เดินแผน“โกลบอล”เชื่อม“โลคอล” ชิงเค้ก 2 ผู้เล่นหลัก “ไปรษณีย์ไทย – เคอร์รี่”

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาอัตราการเติบโตของธุรกิจค้าขายออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ในไทยเติบโตขึ้นแบบไม่ธรรมดา ตัวเลขจากสำนักงานพัฒนาธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า)เผยถึงมูลค่าตลาดจาก 2.2 ล้านล้านในปี 2558 ก้าวขึ้นเป็น 3.05 ล้านล้านบาทในปี 2561 โดยมาจากการค้าระหว่างธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B) 1.8 ล้านล้านบาท และการค้าขายของธุรกิจต่อลูกค้ารายย่อย หรือผู้บริโภคทั่วไป (B2C) มูลค่า 9.4 แสนล้านบาท

มูลค่าค้าขายที่เพิ่มขึ้นจากหลากหลายกลุ่มธุรกิจ ทว่ากลับมีกลุ่มบริษัทผู้ให้บริการขนส่งพัสดุรายใหญ่ทั่วทั้งประเทศ เพียง 2 ราย คือ ไปรษณีย์ไทย อายุกว่า 135 ปี รัฐวิสาหกิจไทย ที่พลิกตัวเองจากขนส่งจดหมายมาเป็นผู้ให้บริการขนส่งพัสดุ และ เคอรี่ (Kerry)  ผู้เล่นจากต่างประเทศ สัญชาติฮ่องกงที่เข้ามาปักธงสร้างเครือข่ายในประเทศไทยมากกว่า 10 ปี ลงทุนเพื่อสร้างเครือข่าย จนกระทั่งมีกำไรในปีนี้ หลังจากรับอานิสงส์ ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยเติบโตรวดเร็ว 

ยังไม่นับรวมผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายเล็กๆ หรือรายที่เพิ่งเริ่มทำตลาดในไทยได้ไม่นาน อย่าง นิ่มซี่เส็ง ผู้ให้บริการขนส่งเฉพาะด้านและบริการพื้นที่ในภูมิภาค ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามเทรนด์อีคอมเมิร์ซ และ เอสซีจี เอ็กซ์เพรส (SCG Express) ภายใต้บริษัทยามาโตะ เอ็กซ์เพรส (SCG Yamato Express) เป็นการร่วมมือกันระหว่าง เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และ Yamato Asia Pte. Ltd. ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทอันดับหนึ่ง ในการให้บริการจัดส่งสินค้าถึงบ้าน ในญี่ปุ่น เป็นต้น

ปรากฎการณ์อีคอมเมิร์ซเฟื่องฟูในไทย จึงเกิด เค้กหอมหวาน ในธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์แตะจมูก เบสท์ โลจิสติกส์ เทคโนโลยี ท็อป 3 บริการด้านโลจิสติกส์ในจีน ที่ขนส่งตั้งแต่ไม้จิ้มฟันเรือรบ

ที่สำคัญยักษ์โลจิสติกส์รายนี้ยังถือหุ้นใหญ่โดยอาลีบาบา ยักษ์อีคอมเมิร์ซอันดับต้นๆของโลก ของ “แจ็ค หม่า มหาเศรษฐีจีน ผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหาร บริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป ที่มีหรือจะย่อมไม่ปล่อยให้โอกาสการต่อหางธุรกิจโลจิสติกส์ในไทยหลุดลอยไป 

หลังจากก่อนหน้านี้ (เม.ย.2561) แจ็ค หม่า เพิ่งลงนามความร่วมมือ(MOU) กับรัฐบาลไทย ฉบับ คือ 1.ความร่วมมือด้านร่วมทุนกว่า11,000 ล้านบาทในระยะแรก ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) 2. ความร่วมมือด้านการลงทุน Smart Digital Hub ในพื้นที่ อีอีซี ระหว่างสำนักงานอีอีซี กรมศุลกากร และบริษัท Cainiao Smart Logistics Network 3.ความร่วมมือพัฒนาบุคลากรด้านอีคอมเมิร์ซ และส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ให้พัฒนาธุรกิจยุคดิจิทัล และ 4.ผลักดันการท่องเที่ยวและส่งเสริมเมืองรอง

นั่นยังเป็นโอกาสที่แจ็ค หม่า ได้เห็นก้าวขยับของไทยไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 โอกาสการเติบโตมหาศาลที่ควรเข้ามาเชื่อมต่อไทยและขยายสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

เจสัน เคียน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกลุ่มบริษัท เบสท์ โลจิสติกส์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด และผู้จัดการทั่วไป เบสท์ โลจิสติกส์ เทคโนโลยี (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ผู้ที่มีประสบการณ์ทำงานด้านโลจิสติกส์มากว่า 18 ปี โดยเริ่มต้นจากเฟดเอกซ์ (Fedex) กว่า 10ปี ก่อนจะเข้ามาร่วมงานกับเบสท์ ใน8 ปีที่ผ่านมา เผยถึงการเข้ามาปักธงการบริการโลจิสติสก์ของเบสท์ เมื่อ 4 เดือนที่ผ่านมา และได้เปิดตัวจุดกระจายสินค้าอย่างเป็นทางการ (ฮับโลจิสติกส์) ไปแล้วกว่า 4 แห่ง กรุงเทพฯ พิษณุโลก ขอนแก่นและสุราษฎร์ธานี เริ่มเปิดคิกออฟ บริการขนส่ง  ในวันที่ 28 พ.ย.2561 ที่ผ่านมา

เจสัน ย้ำชัดว่า สิ่งที่เบสท์ โลจิสติกส์ เห็นโอกาสในไทย คือการเติบโตของธุรกิจโลจิสติกส์อย่างรวดเร็วไปพร้อมกับกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ทำให้มีความต้องการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน (Cross Border) ระหว่างจีนมาไทยเพิ่มขึ้น ไม่ต่ำกว่า 40-50% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่สำคัญเขามองว่าเศรษฐกิจของไทยกำลังอยู่ในช่วงเทคออฟ หรือขาขึ้นอีกครา  

นอกจากนี้ ลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ไทย ยังเป็น“ศูนย์กลาง”ภูมิภาคอาเซียน กลายเป็นจิ๊กซอว์ที่ทำให้เบสท์ โลจิสติกส์ เลือกที่จะปักธงในไทยก่อนเป็นที่แรกในอาเซียน หลังจากที่เล็งจะเข้ามายึดหัวหาดการบริการในภูมิภาคอาเซียน ในยุคที่การค้าขายออนไลน์รุกเข้ามาแทนที่การค้าในช่องทางเดิม (Off Line)

**เปิด จุดแข็งรุกตลาดไทย

เจสัน เล่าถึงแผนการลงทุนในไทยสเต็ปแรกภายใน 5 ปี (2561-2565) จะมีมูลค่า 5,000 ล้านบาท ในการสร้างจุดกระจายสินค้า ฮับโลจิสติกส์ และลงทุนเทคโนโลยี ระบบที่ใช้เครื่องมือ คอมพิวเตอร์ เชื่อมต่อการวิเคราะห์ข้อมูลการบริการ (Machine) ในการทำงานเป็นหลัก เป้าหมายปีแรก (2562) จะเปิด 500 ฮับโลจิสติกส์ และ 1,500 หน้าร้านรับส่งสินค้า (express shop) และจุดรับส่งสินค้า

“เป้าหมายของเราคือการเข้ามาเชื่อมต่อการบริการในตลาดอาเซียน จึงเริ่มต้นรุกปักธงในไทยเป็นประเทศแรก เป็นจุดเริ่มในการสร้างขุมพลังรุกต่อในอาเซียน” เขาเล่า

เขายังบอกว่า แม้จะเป็น “น้องใหม่” แห่งวงการโลจิสติกส์ไทย แต่เป้าหมายที่ท้าทายคือความต้องการที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจนี้ในไทยในเร็ววัน จากสิ่งที่ “เบสท์” เข้ามาทำธุรกิจแตกต่างจากผู้เล่นที่มีในตลาด 3 สิ่ง ที่ก้าวไปประสบความสำเร็จ (Key to Success) ได้ไม่ยาก ได้แก่

เทคโนโลยี ตลอด 10 ปีที่ เบสท์ลงทุนต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทำงานแทนคน (Machine) รวมไปถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์การขนส่ง จนถึงการวิเคราะห์ข้อมูล (Big Data) บริหารซัพพลายเชน ในการบริการโลจิสติกส์ครบวงจร จึงเห็นการบริการที่รวดเร็ว และถูกกว่าในตลาด เริ่มต้นการบริการที่ 20 บาท ซึ่งถูกกว่าในตลาด

“เทคโนโลยี” คือ นักรบสำคัญที่เบสท์ชูให้เป็นพระเอกของกลุ่มธุรกิจ

“เรามีเทคโนโลยีที่ช่วยพัฒนาการบริการที่แตกต่างและมีประสิทธิภาพ ในราคาที่ถูกและเร็ว” เขาเชื่อมั่น

ประการต่อมาคือ แพลตฟอร์มโมเดลธุรกิจ ที่เชื่อม โกลบอล สู่เครือข่ายโลคอล” (Global to Local) กลุ่มธุรกิจมีฮับโลจิสติกส์ในการบริการกระจายกว่า 15 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐ ออสเตรเลีย อังกฤษ จีน อินเดีย และภูมิภาคอาเซียน คือไทย ซึ่งเป็นบริษัทระดับโลก โดยจะเข้ามาเชื่อมระบบกับระบบธุรกิจแฟรนไชส์ในระดับท้องถิ่น ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีให้ท้องถิ่นดูแลธุรกิจในพื้นที่ การวางเครือข่ายจุดรับบริการหน้าร้าน และการขนส่ง เพื่อไปเชื่อมต่อกับฮับโลจิสติกส์ที่กระจายไปทั่วประเทศ

และสุดท้ายคือ โมเดลแฟรนไชส์” เป็นโมเดลใหม่ที่ไม่มีผู้เล่นในตลาดทำมาก่อน ในการมอบสิทธิในการบริหารเครือข่ายขนส่งในแต่ละพื้นที่ ไม่ต่างจากการเป็นตัวแทนในระดับภาค ที่จะคอยดูแลธุรกิจเฟรนส์ไชส์ต่างๆในท้องถิ่นในระดับที่ย่อยลงไป

โดยกลุ่มธุรกิจเบสท์ จะเป็นผู้วางระบบ แต่การบริการขนส่งและกระจายสินค้าเป็นหน้าที่ของท้องถิ่น ที่มีผู้ชำนาญพื้นที่มากกว่า ซึ่งในจีนมีกว่า 5,000 แฟรนไชส์กระจายอยู่ใน 31 มณฑล สำหรับไทยเริ่มต้นที่ 42 แฟรนไชส์ โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 80 แฟรนไชส์ทั่วประเทศ

“เบสท์เติบโตอย่างรวดเร็วในจีน เริ่มต้นก่อตั้ง 11 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากการขนส่งเพียง 1 แสนชิ้นต่อวัน แต่ปัจจุบันมีการขนส่งและกระจายสินค้า 20 ล้านชิ้นต่อวัน” เขาเล่าถึงพัฒนาการธุรกิจ ที่ปัจจุบันขนส่งทุกอย่างตั้งแต่ระดับเล็กจนถึงชิ้นใหญ่ให้กับธุรกิจSMEs ไม่ว่าจะเป็นผัก ของสด ชิ้นส่วนอุปกรณ์ เพราะระบบของเบสท์มีความยืดหยุ่นในการรับบริการ”

เจสัน ยังระบุว่า เบสท์เติบโตในด้านการบริการขนส่งและโลจิสติกส์ในจีนอย่างรวดเร็ว ไปพร้อมกันกับอีคอมเมิร์ซในจีน พร้อมกันกับลงทุนด้านเทคโนโลยีต่อเนื่อง 

———————————–

ถอดโมเดลแฟรนไชส์โลจิสติกส์

เจสัน เคียน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกลุ่มบริษัท เบสท์ โลจิสติกส์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย)จำกัดและผู้จัดการทั่วไป เบสท์ โลจิสติกส์ เทคโนโลยี (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ระบุว่า โมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ ที่ประสบความสำเร็จในจีน เมื่อถูกถอดมาใช้ให้กับกับตลาดไทย สิ่งที่ต้องปรับคือ สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ที่เติบโตในจีน การขนส่งส่วนใหญ่จึงจ่ายผ่านอาลีเพย์ หรือ วีแชทเพย์ ขณะที่เมืองไทยอาจจะต้องมีการเก็บเงินปลายทาง ทางกลุ่มธุรกิจต้องปรับให้เหมาะสม ก่อนตลาดเติบโตและเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริงในวันข้างหน้า

หลักการเข้าร่วมเป็นแฟรนไชส์ คือลงทุนมูลค่า 5 ล้านบาท พร้อมรถขนส่ง 5-10 คัน ซึ่งพันธมิตรจะต้องเป็นเจ้าของพื้นที่ 100-1,000 ตารางเมตร มีหน้าร้าน 1 แห่ง บริการรับส่งพัสดุอย่างน้อย 10 จุด โดยเบสท์เป็นผู้เข้าวางระบบซอฟต์แวร์

สิ่งที่จูงใจให้พันธมิตรท้องถิ่นเข้าร่วมเป็นแฟรนไชส์ เพราะยักษ์อีคอมเมิร์ซ อย่าง “อาลีบาบา” เป็นเจ้าของเบสท์ ซึ่งมีการขนส่งเอ็กซ์เพรสในจีนมากกว่า 25,000 แห่งทั่วทั้ง 31 มณฑล มีคลังสินค้าแบบคลาวน์มากกว่า 330 แห่ง ครอบคลุม 170 เมือง มีพนักงานที่ปฏิบัติการเต็มเวลา 2 ชั่วโมงกว่า 10,000 คน

“กลุ่มธุรกิจที่เป็นพันธมิตรแฟรนไชส์เห็นว่าเบสท์ เป็นบริษัทใหญ่มีชื่อเสียง มีเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า และที่สำคัญคาดว่าจะคืนทุนได้ภายใน 6 เดือน – 1 ปี”

วรุต ชคทิศ ผู้จัดการทั่วไป เบสท์ แฟรนไชส์ (Best Franchisee) Area 74 พื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และผู้กระจายสินค้าให้กับไอศกรีม วอลล์ สาขา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา มีจุดกระจายสินค้าและเครือข่ายร้านค้าใน 3 จังหวัดกว่า 3,000 แห่ง มองถึงการตัดสินใจเข้าร่วมเป็นแฟรนไชส์ กับ เบสท์ ว่าแม้จะเป็นผู้เข้ามาในตลาดโลจิสติกส์ทีหลัง แต่ก็มั่นใจว่าจะพลิกเป็นผู้นำได้ เพราะเทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพ และให้อำนาจในการบริการจัดการขนส่งพื้นที่ที่แฟรนไชส์รับผิดชอบ ซึ่งมีโอกาสเติบโตได้อีกมหาศาล

“ผมเป็นผู้อยู่ในธุรกิจโลจิสติกส์อยู่แล้ว ในยุคที่โลกเปลี่ยนสู่ตลาดออนไลน์ เชื่อว่าโลจิสติกส์ เป็นธุรกิจดาวรุ่ง เอสเคิร์ฟ จึงหาโอกาสเข้าสู่ตลาด ซึ่งได้พยายามเป็นตัวแทนเคอรี่ และนิ่มซี่เส็ง แต่ไม่มีระบบแฟรนไชส์ เมื่อเบสท์นำระบบแฟรนไชส์จึงตัดสินใจไม่ยากในการเข้าร่วมทุน”เขาเล่า

เขาเชื่อว่าเทคโนโลยี ที่เชื่อมการบริการทุกอย่างไปสู่โลกอินเตอร์เน็ท (Internet of Things) คือกุญแจสำคัญที่ทำให้การบริการและโมเดลของเบสท์แตกต่างจากผู้เล่นเดิมในตลาด

และที่สำคัญ เบสท์ คือบริษัท โกลบอล ที่คิดอย่าง โลคอล (Global Think Local) วางระบบการขนส่ง และให้สิทธิ์แฟรนไชส์ท้องถิ่นจัดการ ให้โอกาสธุรกิจรายย่อยเติบโตไปพร้อมกัน

การลงทุนแฟรนไชส์ ล้านบาท แค่เปิดร้านกาแฟ ปัจจุบันก็ ล้านแล้ว ดังนั้น ล้านบาทเพื่อแลกกับโอกาสการเข้าตลาดออนไลน์ทั่วโลก เติบโตไปพร้อมกับอาลีบาบา ถือว่ามหาศาลและคุ้มค่า เขาเชื่อในโมเดลธุรกิจ

ขณะที่อีกขุมพลังที่เบสท์มีคือ ซอฟต์แวร์การบริหารจัดการความซับซ้อนของระบบขนส่งสินค้าในทุกรูปแบบ ทั้งธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B) , ธุรกิจต่อผู้บริโภค (B2C) รวมไปถึงระบบซัพพลายเชนของผู้ผลิต คลังสินค้า ซึ่งบางรายเก่งในแต่ละด้าน ทว่า เบสท์ เข้าไปจัดการทุกเรื่องให้กลายเป็น การบริการจบในจุดเดียว (One Stop Service) หากเทียบกับ 2 ธุรกิจโลจิสติกส์ ที่อยู่ในไทย ทั้งไปรษณีย์ไทย และเคอรี่ ที่ยังเก่งและถนัดในแต่ละด้าน ไปรษณีย์ไทย ยังมีความเป็นระบบราชการ มีการผ่านหลากหลายขั้นตอน ขณะที่เคอรี่บริหารจัดการเครือข่ายเพียงคนเดียว และเลือกพันธมิตรธุรกิจเฉพาะร้านสะดวกซื้อทั่วไปเป็นหลัก  เขาระบุเช่นนั้น

การร่วมมือกันระหว่างแฟรนไชส์โลคอล “เบสท์”จึงนำมาเพียง”สมอง”ระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์ พัฒนาซอฟต์แวร์ มาเชื่อมต่อกับ เครือข่ายโลคอล ที่ทำหน้าที่เป็น”แขนขา”ให้กับเบสท์ ในการกระจายสินค้า โดยใช้จุดแข็ง “ความสัมพันธ์และชำนาญ” ในพื้นที่ รวมไปถึงเครือข่ายการบริการที่แข็งแกร่ง

เป็นการจับคู่กับอย่างลงตัวของกลุ่มธุรกิจระดับโลกที่เข้ามาเชื่อมต่อให้กับผู้ประกอบการในไทย ซึ่งโลกออนไลน์ทำให้ตัดพ่อค้าคนกลาง ช่วยให้ผู้ผลิตเจอกับผู้ซื้อ และผู้บริการขนส่งมาช่วยอีกด้าน ทำให้มีต้นทุนสูญเสียให้น้อยที่สุด หรือ Lean มากที่สุด”

วรุต ยังวางเป้าหมายว่าในปีแรกจะมีหน้าร้าน ซึ่งเป็นจุดรับส่งสินค้า 30 ร้านใน 3 จังหวัด โดยมีจุดรับย่อย(Drop Point) กว่า 100 แห่ง

ที่มา : ข่าวบ้านเมือง

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Thursday, 24 September 2020 07:15
สุเทพ ชื่นนาทกุล

Author : เกาะติดข่าววงการก่อสร้าง แวดวงอุตสาหกรรมหนัก เคมีภัณฑ์และพลาสติก การกลั่นน้ำมัน โรงเหล็ก การทำเหมือง การสร้างเขื่อน สนามบิน ทางรถไฟ ถนน อ่างเก็บน้ำ ระบบชลประทาน ฯลฯ

Leave a comment

Make sure you enter all the required information, indicated by an asterisk (*). HTML code is not allowed.


  
X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM