IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | an6n@yahoo.com
นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วง 4-5 เดือนก่อนจะมีการเลือกตั้งปลายเดือน ก.พ. 2562 รัฐบาลยังเน้นการอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2562 (ต.ค.-ธ.ค. 2561) นี้ ตั้งเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพเร่งรัดการเบิกจ่ายให้ได้ 30% ของงบฯทั้งหมด 3 ล้านล้านบาท หรือราว 9 แสนล้านบาท ไตรมาส 2 (ม.ค.-มี.ค. 2562) ตั้งเป้าเบิกจ่ายอีก 25% ดังนั้นช่วง 6 เดือนแรก มีเป้าเร่งรัดเบิกจ่ายงบฯในภาพรวมให้ได้ 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งได้เตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนกฎหมายงบประมาณจะมีผลบังคับใช้
เป้าเบิกจ่าย 6 เดือนแรก 50%
“ช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ ควรมีการเบิกจ่ายมากกว่า 50% โดยงบฯลงทุนต้องเร่งจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะโครงการขนาดเล็กซึ่งปีที่แล้วการเบิกจ่ายงบฯลงทุนต่ำ ส่วนราชการอ้างว่า พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทำให้ล่าช้า แต่การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว เจ้าหน้าที่น่าจะเข้าใจในรายละเอียดและเร่งรัดเบิกจ่ายได้ตามเป้า”
นอกจากนี้ เมื่อร่าง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ที่ขณะนี้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้ว มีผลบังคับใช้ ทุกส่วนราชการจะต้องเบิกจ่ายเงินงบฯให้หมดภายในปีงบประมาณนั้น ๆ ไม่สามารถกันเงินไปเบิกเหลื่อมปีได้ เว้นแต่จะทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันไว้ หากใช้เงินไม่หมดจะถูกพับไปโดยอัตโนมัติ
ตั้งทีมเกาะติดเบิกจ่าย
นางญาณี แสงศรีจันทร์ รองอธิบดี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง ในฐานะโฆษกอธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า จากผลการเบิกจ่ายเงินงบฯรายจ่ายประจำปี 2561 ที่ต่ำกว่าเป้า เนื่องจากหน่วยงานรัฐยังมีปัญหาความไม่เข้าใจการจัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ในการเบิกจ่ายงบฯปี 2562 กรมบัญชีกลางจะเร่งทำความเข้าใจ และจะตั้งทีมติดตามแบบลงรายละเอียดทุกขั้นตอน
นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ ในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า สคร.จะส่งหนังสือแจ้งให้ผู้แทนกระทรวงการคลัง ที่นั่งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจเร่งรัดเบิกจ่ายงบฯลงทุนตั้งแต่ต้นปีงบประมาณอีกทางหนึ่ง ซึ่งปีงบฯ 2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติกรอบงบฯลงทุนรัฐวิสาหกิจทั้งสิ้น 538,943 ล้านบาท ตั้งเป้าเบิกจ่ายภาพรวมทั้งปี 95% ช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.น่าจะมีเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาท
สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในปี 2562 อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โครงการทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯด้านตะวันตก โครงการบ้านผู้มีรายได้น้อย
กู้ 9.2 หมื่น ล.ลุยเมกะโปรเจ็กต์
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ในปีงบฯ 2562 รัฐได้วางแผนการกู้เงินมาให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อเพื่อลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ต่อเนื่อง วงเงินรวม 92,353.01 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการลงทุนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 6 โครงการ 26,706.65 ล้านบาท 1.รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ 2.โครงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณสถานีสะพานพระนั่งเกล้า รถไฟฟ้าสายสีม่วง 3.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ 4.รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ 5.รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต 6.รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี
การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 8 โครงการ 1.โครงการระบบขนส่งทางรางในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต 2.รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง 3.ก่อสร้างทางคู่เส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย 4.รถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ
5.ทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 6.ก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น 7.ทางคู่ช่วงนครปฐม-ชุมพร และ 8.รถไฟฟ้าไทย-จีน (ระยะที่ 1 ช่วง กทม.-นครราชสีมา) 24,378.58 ล้านบาท
“คมนาคม” ลงทุน 1.2 ล้านล้าน
ขณะที่รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้มอบนโยบายให้กระทรวงคมนาคม เร่งผลักดันการลงทุนให้เป็นไปตามแผนก่อนการเลือกตั้ง ช่วง 3 เดือนนับจากนี้ไป (ต.ค.-ธ.ค. 61) จะเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่และเสนอ ครม.พิจารณา 23 โครงการ วงเงินลงทุนกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ให้แล้วเสร็จ อย่างมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ติดเรื่องค่าเวนคืนที่ดิน ส่วนกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ให้เร่งรัดพัฒนาโครงการไทยแลนด์ริเวียร่า ให้เป็นจุดท่องเที่ยวและจุดพักรถ เพิ่มมูลค่าให้โครงการและส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรอง
เร่งรถไฟไทย-จีน
ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ศึกษาการลงทุนทางด่วนหัวเมืองที่มีปัญหาการจราจร เช่น ขอนแก่น และขอให้ดูช่องทางลงทุนในต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะ CLMV ส่วน ร.ฟ.ท.ให้เร่งรัดก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,412 ล้านบาท ให้คืบหน้าโดยเร็ว เพื่อเชื่อมรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน
ให้เพิ่มโครงการรถไฟทางคู่ ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 109 กม. เชื่อมโยงฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ประสานกรมเจ้าท่า หรือการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เชื่อมท่าเทียบเรือระนอง เพิ่มเส้นทางการค้าเชื่อมโยงอีอีซีไปสู่ระนองและพม่า ให้ รฟม.เสนอรถไฟฟ้าภูเก็ต ก่อนเดือน ก.พ. จากเดิม เม.ย. 62 โดยให้ไปคิดหาวิธีการนำโครงการเข้ากองทุนไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ (TFF)”
เดินเรือเชื่อม EEC/ภูเก็ต-มะริด
ด้าน กทท.ให้เสนอโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เงินลงทุน 114,047 ล้านบาท ให้ ครม.พิจารณา กับให้เปิดประมูลแบบนานาชาติและเร่งแผนแม่บทพัฒนาท่าเรือคลองเตย ส่วนกรมเจ้าท่าต้องยกเครื่องหน่วยงานให้บังคับใช้กฎระเบียบอย่างเข้มงวดและเคร่งครัด และศึกษาให้เอกชนร่วมลงทุน PPP เส้นทางเดินเรือจาก กทม.ไปจังหวัดในอีอีซี ส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือเส้นทางจากภูเก็ตไปเกาะมะริด สำหรับการขนส่งทางอากาศ เร่งการบินไทยซื้อเครื่องบินใหม่ 23 ลำ วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท ให้เสร็จเดือน ธ.ค.นี้ พร้อมให้ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) พัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2
ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า จะเปิดประมูลงานใหญ่ 5 โครงการ รวม 480,969 ล้านบาท ได้แก่ รถไฟสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-หัวหมาก สีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ช่วง ม.ค.-มี.ค. 62, สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ช่วง ธ.ค.นี้, รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ให้ยื่นข้อเสนอวันที่ 12 พ.ย.นี้, ทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เดือน มี.ค. 62 และทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนฯ เดือน พ.ย.นี้
ส่วนโครงการเตรียมเสนอ ครม.ใน 4-5 เดือนนี้ มี 18 โครงการ งบฯลงทุนกว่า 7.2 แสนล้านบาท เริ่มเสนอเดือน ต.ค.นี้ อาทิ ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มูลค่า 114,047 ล้านบาท, ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) 10,588 ล้านบาท มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ 79,006 ล้านบาท, สายสีแดงต่อขยาย รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ 6,570.40 ล้านบาท, สายสีแดง ตลิ่งชัน-ศิริราช 7,469.43 ล้านบาท และตลิ่งชัน-ศาลายา 10,202.18 ล้านบาท เป็นต้น
ดันรถไฟไทย-ญี่ปุ่นเฟสแรก
ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จะเร่งรัดโครงการตามแผนงาน โดยกำลังเตรียมทำแผนปฏิบัติการเร่งด่วนปี 2562 จะพิจารณาจากโครงการที่ในปี 2561 ยังไม่ผลักดันสำเร็จ เช่น รถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก 380 กม. วงเงิน 276,225 ล้านบาท โครงสร้างจุดพักรถ 40 แห่งทั่วประเทศ
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ