IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | an6n@yahoo.com
นายวัชชระ ชินเศรษฐวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ด เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ UTP เปิดเผยว่า แผนลงทุนในปี 2563 บริษัทฯ ได้เตรียมงบประมาณราว 200 ล้านบาท สำหรับขยายกำลังการผลิต ส่วนเตรียมเยื่อที่ใช้ป้อนกระดาษ อีก 500 ตันต่อวัน จากเดิมอยู่ที่ 500 ตันต่อวัน เพื่อรองรับการทำกระดาษผิวกล่องให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้เสร็จภายในไตรมาส 4 ของปี 63 นี้ โดยรวมถึงอยู่ระหว่างศึกษาเพิ่ม Boiler อีก 1 ตัว จากปัจจุบัน Boiler จำนวน 2 ตัว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
โปรเจคการพัฒนาและลงทุนของบริษัทในปี 2563 นี้
โดยการลงทุนในครั้งนี้ จะเป็นการปรับปรุงพัฒนาเครื่องจักรเดิมและติดตั้งเครื่องจักรใหม่ รวมถึงก่อสร้างโกดังขนาด 3,000 ตรม,เพิ่มแห่งที่ 3 ที่จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งทำให้สามารถเก็บสินค้าได้มากขึ้นอีก 6,000 ตัน จากเดิมเก็บได้ประมาณ 11,000 -12,000 ตัน เพียงพอต่อการรับรองความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี
“บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของลูกค้า เราจึงพยายามที่จะปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่ตลอดเวลาเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าและเติบโตไปพร้อมกัน ดังนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรจึงถือเป็นจำเป็นอย่างมาก"
เนื่องจากในแต่ละปีเราเดินเครื่องจักรกว่า 340 วัน จะหยุดแค่เฉพาะช่วงที่มีการซ่อมบำรุงประจำเดือนหรือปีเท่านั้น เราจึงต้องปรับปรุงเครื่องให้สามารถรองรับกำลังการผลิตตามความลูกค้าไม่ให้เสียโอกาสคู่แข่งในตลาดได้
สำหรับเป้ายอดขายกระดาษคราฟท์ในปี 2563 นี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าไว้ที่ประมาณ 3,480 ล้านบาท หรือคิดเป็น 240,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยคาดว่าปริมาณขายกระดาษคราฟท์ จะอยู่ที่ 220,000 ตัน จากการเดินเครื่องกำลังการผลิตอย่างเต็มที่ หลังได้ปรับปรุงสิทธิภาพเครื่องจักรสำหรับการผลิตแล้ว โดยปัจจุบันบริษัทฯมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 260,000 ตันต่อปี ซึ่งผลิตภัณฑ์กระดาษของบริษัทฯจะขายในประเทศเป็นหลัก ส่วนที่เหลือจะส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งบริษัทตั้งเป้าดันยอดส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 20% ในอนาคต จากปัจจุบันอยู่ที่ 10%
โปรเจคการพัฒนาและการลงทุนของบริษัทในปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันการขายในประเทศจะขายให้กับบริษัทในเครือ 44%, บริษัทนอกเครือ 45% ส่วนที่เหลือเป็นการส่งออกไปในประเทศเวียดนาม เมียนมาร์ และประเทศอื่น ๆ โดยในปี 63 นี้ บริษัทฯมองการขยายการขายเข้าไปในประเทศจีน เนื่องจากปัจจุบันจีนไม่สามารถนำเข้าเศษกระดาษเข้าไปใช้ได้เพียงพอ และโรงงานกระดาษในจีนมีปัญหาจากมีวัตถุดิบไม่พอใช้ ทำให้มองว่าปีหน้ากระดาษม้วน น่าจะไม่พอใช้ และคาดจะมีการนำเข้าในปริมาณที่สูง ซึ่งบริษัทคาดหวังเข้าไปมีส่วนแบ่งตลาดในจีนต่อไป
สำหรับตลาดกล่องบรรจุภัณฑ์ในจีนได้รับผลกระทบจากราคากระดาษที่ผัวผวน และการบริโภคซึ่งได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ส่งผลให้ความสามารถในการกำหนดราคาของผู้ประกอบการต่ำ รวมถึงกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค ส่งผลให้ความสามารถในการกำหนดราคาลดลงไปอีก เศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวส่งผลให้ผู้ผลิตในประเทศลดกำลังการผลิตลง จึงเป็นโอกาสที่จะเข้าไปทำการตลาดมากขึ้น
ไทม์ไลน์แสดงการพัฒนาและการเติบโตของยอดขาย UTP ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
บริษัท ยูไนเต็ด เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ UTP ก่อตั้งในวันที่ 15 สิงหาคม 2533 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตกระดาษคราฟท์สำหรับอุตสาหกรรมหีบห่อและบรรจุภัณฑ์แบ่งเป็นสองประเภทหลัก คือ กระดาษคราฟท์สำหรับทำผิวกล่อง (Kraft Liner Board) และกระดาษคราฟท์สำหรับทำลอนลูกฟูก (Corrugating Medium) เพื่อจำหน่ายทั้งในไทยและต่างประเทศมานานกว่า 25 ปี มีโรงงานผลิตอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี บนพื้นที่กว่า 300 ไร่ ด้วยกำลังการผลิตรวมกว่า 300,000 ตันต่อปี และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตราว 81% โดยกระดาษคราฟท์ที่ผลิตจะนำเยื่อกระดาษ เยื่อใยสั้นและยาว กระดาษรีไซเคิล แป้ง สีและสารเคมีต่างๆ ไปผ่านกระบวนการผลิต โดยมีกลุ่มชินเศรษฐวงศ์ ถือ 41% ของหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมด และกลุ่มมังกรกนกเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ถือหุ้น 10 %
ซึ่งจากการดำเนินธุรกิจด้วยความใส่ใจต่อลูกค้าและผลิตภัณฑ์ ด้วยการบริหารองค์กร เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้ ล่าสุด บริษัทฯ ได้รับการจัดอันดับเป็น 1 ใน 200 บริษัทมหาชนรายได้ต่ำกว่าพันล้านบาทที่ดีที่สุดในเอเชียประจำปี 2562 (Asia’s 200 Best Under A Billion 2019 ) จาก Forbes นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ยังได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล มากมาย อาทิ มาตรฐาน ISO 9001 และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก,) และภายในสิ้นปี 63 นี้จะได้รับรองมาตรฐาน Forest Stewardship Council (FSC) อีกด้วย
อุตสาหกรรมกระดาษคราฟท์เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมหลายสาขา อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งต่างมีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษสำหรับห่อหุ้ม เก็บรักษา และขนส่งสินค้าทั้งในและต่างประเทศ จึงทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมกระดาษคราฟท์มีความสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการบริโภคและการลงทุนทั้งในภาครัฐและเอกชนที่ขยายตัว รวมทั้งจากธุรกิจ E-Commerce ที่มีแนวโน้มเติบโตจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกให้ความนิยมใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษ เพื่อทดแทนจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมกระดาษคราฟท์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง