IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | an6n@yahoo.com
ผศ.ดร.รณฤทธิ์ ฤทธิรณ อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เปิดเผยว่า ได้คิดค้นและพัฒนา “เทคโนโลยีอินฟราเรดย่านใกล้” หรือเครื่องตรวจวัดคุณภาพทุเรียนว่ามีระดับความสุก แก่ อ่อนทุเรียนได้แล้ว และได้มีการนำมาโชว์ในงานสัมมนา “คุณภาพทุเรียนไทย จะไปถึง 4.0 หรืออยู่ที่ 0.4” เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา
เครื่องตรวจวัดที่ว่านี้ มีขนาดเล็ก ใช้งานง่าย พกพาสะดวก ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ลักษณะการทำงานจะวัดการดูดกลืนพลังงานแสงอินฟราเรดย่านใกล้ของทุเรียน จากนั้น ค่าการดูดกลืนจะถูกประมวลผลเป็นค่าน้ำหนักเนื้อแห้ง อย่างรวดเร็วภายในเพียงเสี้ยววินาที มีจอแสดงผลเป็นค่าน้ำหนักแห้ง ด้วยตัวเลข ซึ่งตัวเลขที่ว่านี้จะอ่านได้ว่าสุก แก่ อ่อน ระดับไหน ผลที่วิเคราะห์ ได้ด้วยเครื่องนี้มีความถูกต้องแม่นยำ ไม่ต้องทำลายตัวอย่างทุเรียนที่นำมาตรวจวัด เมื่อเทียบเท่ากับการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการที่ใช้วิธีการอบ ซึ่งต้องทำลายตัวอย่าง
“การซื้อขายทุเรียนในปัจจุบัน ถ้าผู้บริโภคหรือผู้ขายทุเรียนต้องการเนื้อทุเรียนที่เหมาะสมสำหรับการรับประทานนั้น ต้องมีการตรวจสอบผลทุเรียน ส่วนใหญ่ผู้ขายจะดูว่าทุเรียนสุก แก่ หรืออ่อนนั้น จะใช้วิธีเคาะ ใช้ไม้เกาะฟังเสียง หรือไม่ก็สังเกตจากลักษณะภายนอกของทุเรียน เป็นเรื่องของความชำนาญ ความสามารถเฉพาะบุคคล แต่อาจจะเกิดความผิดพลาดได้”
ผศ.ดร.รณฤทธิ์ กล่าวต่อว่า ในวงวิชาการใช้ระดับความสุกแก่ของทุเรียนกำหนดใช้ค่าน้ำหนักเนื้อแห้งหรือค่า dry matter ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.3-2013 เช่น พันธุ์ชะนีค่าน้ำหนักเนื้อแห้งสำหรับผลทุเรียนที่มีระดับความสุกที่เหมาะสมกับบริโภคมากกว่า 32 % แต่ต้องทำลายตัวอย่างดังที่กล่าวแล้ว แถมยังต้องใช้เวลาในการอบ เพื่อหาค่าน้ำหนักเนื้อแห้งได้
“นี่คือที่มาของการผลิตเครื่องวิเคราะห์คุณภาพทุเรียนโดยใช้หลักการของเทคโนโลยีอินฟราเรดย่านใกล้ โดยตัวน้ำหนักเนื้อแห้งที่อยู่ในทุเรียน จะสามารถวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องทำลายตัวอย่าง วิธีการใช้เพียงนำหัววัดของเครื่อง (ตามภาพ) แนบที่บริเวณเปลือกของทุเรียน ในตำแหน่งที่ต้องการวัดค่าน้ำหนักเนื้อแห้ง (ค่า dry matter) จากนั้นกดสวิทซ์ยิง ค่า dry matter จะแสดงบนหน้าจอเพียงเสี้ยววินาที เช่น ถ้าแสดงค่า 28.50 แสดงผลทุเรียนยังดิบหรือมีระดับความสุกไม่เหมาะสำหรับการบริโภค แต่ถ้าค่าน้ำหนัก dry matter 32.28 แสดงว่าทุเรียนลูกนี้เหมาะสำหรับการบริโภค ซึ่งโดยปกติค่าน้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียนหมอนทอง ชะนีจะมีค่าน้ำหนักเนื้อแห้งไม่ต่ำ กว่า 32 % พวงมณี 30 % และกระดุม 27%” ผศ.ดร.รณฤทธิ์ กล่าว
อนึ่ง เครื่องตรวจวัดคุณภาพทุเรียน “เทคโนโลยีอินฟราเรดย่านใกล้” เหมาะสำหรับเจ้าของสวน ผู้ส่งออกทุเรียน แม่ค้าขายทุเรียน ที่จะนำไปแก้ปัญหาและลดปัญหาการจำหน่ายทุเรียนไม่ได้คุณภาพ หรือทุเรียนอ่อนออกมาจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคตหลังจากที่เครื่องนี้แพร่หลายแล้วอาจจะมีการติดสติกเกอร์กำหนดวันรับประทานทุเรียนที่สุกตามความต้องการได้
ผู้สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร.รณฤทธิ์ ฤทธิรณ โทร. 085-917-1017…ยินดีให้ข้อมูลเพื่อพัฒนาทุเรียนไทยให้ได้คุณภาพ 4.0 ต่อไป