IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | an6n@yahoo.com
“โนริฮิสะ คาโตะ” ผู้อำนวยการแผนกทรัพย์สินทางปัญญา องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ กล่าวว่า จากการสำรวจของสำนักงานสิทธิบัตรญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการตอบกลับมาจาก 9,000 บริษัท ว่าถูกละเมิดลิขสิทธิ์สินค้า หรือแบรนด์ประเทศที่ละเมิดสินค้าบริษัทญี่ปุ่นมากที่สุด คือ “จีน” โดยผลสำรวจระบุว่า มีบริษัทญี่ปุ่นถูกลอกเลียนการผลิตโดยบริษัทจีนกว่า 3,315 บริษัท
ขณะที่ไทย “คาโตะ” อ้างผลสำรวจจากบางกอกโพลล์ พบว่า
79% ของคนไทย เคยซื้อสินค้าปลอมอย่างน้อยคนละ 1 ครั้ง ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ โดย 48% มองว่ามีราคาถูก และอีก 29% เพราะหาซื้อได้ง่าย
การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สร้างผลกระทบมากกว่าที่คิด “คาโตะ” ระบุถึงผลกระทบ 3 ข้อ ที่กระทบต่อสังคมในองค์รวมว่า 1.ทำให้ยอดขายของสินค้าออริจินอลลดลง 2.กระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค หากเป็นสินค้าเครื่องสำอางหรือสินค้าบริโภค และ 3.เป็นการส่งเสริมให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายและสนับสนุนให้ผู้มีอิทธิพลหรือมาเฟียเติบโตขึ้น
เมื่อช่วงต้นปีก่อน รัฐบาลสหรัฐได้ปรับให้ไทยหลุดจากบัญชีต้องจับตามองเป็นพิเศษที่เคยติดอยู่นานกว่า 10 ปี ว่าด้วยการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (Priority Watch List) สู่ระดับประเทศที่ถูกจับตา พร้อมกับ “เวียดนาม”ทำให้ปัจจุบันมีเพียง “อินโดนีเซีย” ที่ยังอยู่ในลิสต์ประเทศที่ต้องจับตามอง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ละเมิดในไทยและอาเซียนแม้ดีขึ้น แต่ยังน่าเป็นห่วง
“คาโตะ” ระบุว่า เส้นทางการลักลอบขนสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามายังประเทศไทยมี 2 เส้นทางหลัก โดยมาจากจีน ด้วยการขนส่งทางบก ผ่านทางตอนเหนือประเทศไทย อีกเส้นทางคือขนส่งทางน้ำ ขึ้นที่ท่าเรือดานัง และเข้ามาทางตะวันออกของไทย การลักลอบนำเข้านั้นตรวจสอบได้ยาก เพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีความรู้ในการแยกแยะ หรือมีการติดสินบนก็ตาม
“อย่างไรก็ตาม ทางญี่ปุ่นพอใจการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไทยในระดับหนึ่ง เมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน หน่วยงานไทยกระตือรือร้นมากขึ้น” พร้อมกับเสนอแนะแนวทางสร้างความตระหนักรู้ โดยยกตัวอย่างว่าที่ประเทศญี่ปุ่นมีการปลูกฝังสร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชนตั้งแต่ยังอายุน้อย
“ประเทศญี่ปุ่นมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเช่นกัน แต่มีน้อย โดยที่ญี่ปุ่นจะมีการใส่ประเด็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาลงในบทเรียน หรือสื่อการเรียนการสอนของเด็กตั้งแต่ระดับประถมศึกษา โดยรัฐบาลญี่ปุ่นคิดว่า การสร้างเสริมการตระหนักรู้ เป็นเรื่องที่ควรทำตั้งแต่เด็ก” ประกอบด้วยมาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวด โดยค่าปรับการละเมิดในประเทศญี่ปุ่นสูงกว่าประเทศไทย
โดยเจโทรได้ร่วมกับกรมศุลกากร และกรมทรัพย์สินทางปัญญา จัดการอบรมวิธีการแยกแยะสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นประจำทุก 1-2 ปี ในแทบทุกประเทศของอาเซียน เพื่อให้มีความรู้ในการแยกแยะสินค้าจริงและสินค้าปลอมออกจากกันได้
ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลการละเมิดลิขสิทธิ์เครื่องหมายทางการค้าในประเทศไทย ในปี 2016 พบว่า “เฮลโล คิตตี้”เป็นเทรดมาร์กที่ถูกละเมิดเป็นอันดับ 1 มีการยึดสินค้ามากถึง 375,372 ชิ้น มูลค่า 3,177,288 บาท ตามด้วย“ฮอนด้า” “โปเกมอน” “โดราเอมอน” และ “โซนี่”
ที่มา : ประชาชาติออนไลน์