IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | an6n@yahoo.com
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสัมมนาใหญ่หัวข้อ Symposium on Thailand 4.0 towards Connected Industries ที่รัฐบาลจัดขึ้น ณ โรงแรมแบงค็อกแมริออท ควีนส์ปาร์ค เมื่อ 12 ก.ย. 2560 มีตัวแทนหน่วยงานรัฐและเอกชนไทย กับคณะผู้บริหารระดับสูงภาครัฐ และนักลงทุนญี่ปุ่นซึ่งเดินทางมาเยือนไทย ในโอกาส 130 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ก่อนนักลงทุนญี่ปุ่นจะเดินทางไปศึกษาดูงานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) วันที่ 13 ก.ย.นี้
บิ๊กตู่ยืนยัน EEC ล้มไม่ได้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจเรื่องระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ได้ยืนยันศักยภาพและแผนงานของประเทศไทย และยืนยันจะเดินหน้าโครงการต่อไป เพราะบรรจุเป็นกฎหมายแล้วไม่ใช่ใครจะยกเลิกได้ อีกทั้งมีแผนการลงทุนในอนาคต 5 ปี ที่จะต้องทำสาธารณูปโภคพื้นฐานชัดเจน ญี่ปุ่นจึงสนใจมาลงทุน และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
เลือกไทยสอดรับ Connectivity
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยรู้สึกปลื้มใจที่ทางการญี่ปุ่นนำคณะนักธุรกิจเดินทางมาเยือนกว่า 500 ราย ถือเป็นภารกิจที่ไทยต้องดำเนินการให้สมกับที่ญี่ปุ่นจริงใจ ตั้งใจ และไว้ใจ โดยรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่นจะต้องร่วมวางยุทธศาสตร์ 10 ปี ให้เป็นแนวทางสำหรับภาคเอกชนทั้งสองประเทศได้เดินตาม ต่อคำถามที่ญี่ปุ่นตั้งคำถามกับรัฐบาลไทย 3 คำถาม 1) ทำไมต้องเป็นประเทศไทย ทั้งที่ทุกวันนี้ผู้ประกอบการมีสิทธิ์ที่จะเลือกไปลงทุนที่ไหนก็ได้นั้น มั่นใจว่า 10-20 ปีข้างหน้า ภูมิภาคเอเชียจะเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อน จะเห็นว่าช่วงไม่ถึง 1 ปี Geopolitic เปลี่ยนแปลงไปมาก แต่หัวใจสำคัญ คือ อาเซียน-GMS-BIMSTEC เป็นแวลูเชนที่ใหญ่ที่สุด และไทยเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคด้านที่ตั้ง และเป็นศูนย์กลางในยุทธศาสตร์ One Belt, One Road (OBOR) หากญี่ปุ่นเชื่อไทย ควรสนับสนุนการเชื่อมโยงภูมิภาค เชื่อมต่อโครงการ East-West Corridor ซึ่งขณะนี้ประเทศรอบข้างไทยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นลาว อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา เมียนมา หากเชื่อมต่อทั้งหมดได้ จะสอดรับกับนโยบาย Connectivity ที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญ
ชู Hard Factor-Soft Factor
“เราไม่ได้ดีกว่าประเทศอื่น แต่เรามีบางสิ่งที่ประเทศอื่นไม่มี ทั้ง Hard Factor และ Soft Factor” นายสมคิดกล่าว
ในส่วนของ Hard Factor เดิมในพื้นที่อีอีซี มีนักลงทุนญี่ปุ่นลงทุนอยู่แล้ว 8,000 บริษัท ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อม มีปิโตรเคมิคอลมูลค่านับล้านล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับใช้ต่อยอดอุตสาหกรรม และรัฐบาลไทยมุ่งพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่ออนาคต เตรียมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 1-2 ปีนี้ หลังหยุดชะงักมานาน ซึ่งญี่ปุ่นสามารถใช้ไทยเป็นฮับพัฒนาบุคลากร เชื่อมโยงไปยัง CLMV และ GMS ได้
ส่วน Soft Factor เชื่อว่านักลงทุนญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยมา 40-50 ปี เช่น อายิโนะโมะโต๊ะ, โตโยต้า เข้าใจดีว่าการลงทุนในไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรม ความเป็นมิตร อยู่ด้วยแล้วสบายใจ
ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลไทยพร้อมแก้จุดอ่อนที่เป็นอุปสรรคการค้าการลงทุน ทำให้ World Bank ปรับอันดับให้ไทยดีขึ้นจาก 4 แฟกเตอร์ ที่ไทยพัฒนาขึ้น ส่วนที่เอกชนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องปกติของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานราคาถูกเป็นหลัก ซึ่งอุตฯไทยมีศักยภาพ รัฐต้องสนับสนุน ที่สำคัญไทยพร้อมส่งเสริมอุตฯใหม่ ทั้งในกลุ่มเกษตร/อาหาร อุตฯที่ต้องการต่อยอดมากขึ้น และอุตฯแห่งอนาคต
คำถามที่ 2 ไทยจะเดินไปในทิศทางไหน ท่านนายกฯและ รมว.อุตสาหกรรม (อุตตม สาวนายน) ตอบชัดเจนแล้วว่า อดีตที่ผ่านมาแม้จีดีพีไทยจะขยายตัวปีละ 10-12% แต่ยังขาดดุลยภาพ รัฐบาลต้องการความสมดุลทั้งการสร้างรายได้จากการส่งออก และการสร้างเศรษฐกิจภายใน (Local Economy) โดยปฏิรูปด้านต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตให้สร้างนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่ม และมุ่งเน้นพัฒนาผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ กลาง และเล็ก สนับสนุนสร้าง Startup และ New Entrepreneur ซึ่งไทยนำต้นแบบการพัฒนาลักษณะนี้มาจากญี่ปุ่น
ขณะเดียวกัน ไทยมีนโยบายสร้างความเติบโตไปพร้อมกันในภูมิภาค ทั้ง CLMV ให้เกิดความเข้มแข็ง นำไปสู่ความสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ
เชื่อมโยงนโยบายไทยแลนด์ 4.0
คำถามที่ 3 มีอะไรที่ญี่ปุ่นมาทำได้บ้าง กล่าวได้ว่าในโลกข้างหน้าไม่ใช่แค่เศรษฐกิจ แต่ต้องคำนึงถึง Geopolitic และ Geoeconomics ต้องเชื่อมโยงความคิดรัฐและเอกชน ทำอย่างไรจะเชื่อมโยงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และนโยบายการปฏิวัติอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ที่มุ่งนำอินเทอร์เน็ต Data, Big Data, AI, IoT มาใช้กับธุรกิจ หรือ Connected Industry ได้ จังหวะนี้มีความสำคัญมาก ไทยเสียเวลาไปนานกว่า 10 ปี ต่อไปนี้จะพยายามขับเคลื่อนให้ได้ แต่ยังขาดบุคลากร จึงหวังว่าญี่ปุ่นจะมาช่วยพัฒนาร่วมกัน นอกจากนี้ทั้งสองประเทศควรร่วมมือผลักดัน RCEP และ TPP ให้ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมให้ได้ แม้สหรัฐจะถอนตัวไปแล้ว แต่ความตกลงทั้ง 2 ฉบับ เป็นความตกลงที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นนั้นไม่ใช่แค่เพียงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ แต่เป็นหุ้นส่วนทั้งชีวิตของประเทศในระยะยาว ญี่ปุ่นอยู่กับไทยเสมอไม่ว่าฟ้าสดใส หรือในช่วงที่มีเมฆหมอก เป็นความสัมพันธ์ที่อยู่เหนือความไม่แน่นอน อยู่เหนือกาลเวลา เหนือความขัดแย้งของโลก
ทวิภาคีไทย-ญี่ปุ่น
ขณะที่นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการหารือแบบทวิภาคีไทย-ญี่ปุ่น ได้หารือถึงความร่วมมือด้านต่าง ๆ หลายประเด็น เช่น การสนับสนุนเอสเอ็มอี การพัฒนาบุคลากร การส่งเสริมการลงทุนใน EEC ล่าสุดนักลงทุนรัสเซียก็เตรียมเดินทางมาศึกษาดูงานอีอีซีเช่นเดียวกัน
“ญี่ปุ่นได้ยกตัวอย่างว่า มีนโยบายการ Tax Incentives ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานน้อย หรือใช้ AI ในการผลิต รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบไอที เพื่อเชื่อมโยงในอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ขณะที่ไทยขอให้ช่วยพัฒนา Local Product นำไปเชื่อมโยงกับธุรกิจท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้เศรษฐกิจท้องถิ่น”
ส่วนประเด็นการทบทวนการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ครบรอบ 10 ปี อยู่ในกระบวนการเจรจา ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพ จะจัดประชุมปลายปีนี้
ญี่ปุ่นชูไทยเป็น “ฮับ” ภูมิภาค
นายฮิโรยูกิ อิชิเกะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กล่าวว่า ปัจจุบันการลงทุนต่างประเทศของญี่ปุ่นเกิดขึ้นในไทยราว 40% จำนวนกว่า 5 พันบริษัท แต่ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้เวียดนามผงาดขึ้นมาแข่งอย่างรวดเร็ว บริษัทญี่ปุ่นต่างเริ่มมองเห็นความไม่สดใสของการลงทุนในไทย ยอมรับว่าในเซ็กเตอร์หลักมีการลงทุนน้อยลง ปัจจุบันไทยอยู่บนทางแยกแห่งการตัดสินใจครั้งใหม่ เพื่อเดินหน้าประเทศ และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ถือเป็นนโยบายสำคัญ มีอีอีซีเป็นเครื่องมือหลัก และอีอีซีไม่ใช่แค่สิ่งที่กุมชะตาประเทศไทยไว้เท่านั้น แต่รวมไปถึงอนาคตบริษัทญี่ปุ่นในไทยด้วย
ประธานเจโทรเสนอว่า ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นไม่ควรหยุดแค่การซื้อขาย หรือมองแค่ภาพระดับประเทศ แต่ควรขยายความร่วมมือสู่ระดับภูมิภาค ไทยต้องเป็นฮับส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน ควรโยกฐานการผลิตพื้นฐานไปประเทศเพื่อนบ้าน แล้วหันมาผลิตสินค้ามูลค่าสูงแทน
ชี้จุดอ่อนบุคลากรและ R&D
นอกจากนี้ ไทยต้องพัฒนาบุคลากร โดยเจโทรประเทศไทยได้รับการแจ้งจากบริษัทญี่ปุ่นว่า ประสบปัญหาในการจ้างวิศวกร เป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และด้านการวิจัยและพัฒนา ไทยยังด้อยกว่าประเทศรอบข้าง จึงเป็นเรื่องที่ดี และถือว่าสำคัญหากไทยจะจัดตั้งศูนย์ R&D ไว้ที่อีอีซี
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นสามารถช่วยเหลือไทยได้โดยสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ร่วมกัน รวมทั้งความช่วยเหลือด้านบุคลากร การส่งคนมาสอนหรือแลกเปลี่ยนความรู้ นอกจาก เจซีซี กรุงเทพฯ ได้เตรียมจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาอีอีซีอีกด้วย จึงอยากให้ไทยรับฟังสิ่งที่บริษัทญี่ปุ่นต้องการ
แนะแก้จุดอ่อน
สำหรับความสนใจของนักลงทุนญี่ปุ่นในอีอีซี ประธานเจโทรกล่าวว่า ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าการลงทุนได้ แต่ญี่ปุ่นให้ความสนใจไทยมาก ครั้งนี้เดินทางมาร่วม 600 บริษัท ตอนนี้จึงเป็นโจทย์ของไทยว่าจะวางหมากอย่างไร ให้สามารถประสานงานและพัฒนางานให้มีผลในทางปฏิบัติ เพราะสิ่งที่เป็นปัญหาของไทยตอนนี้ คือ 1.แรงงานไม่เพียงพอ โดยเฉพาะแรงงานด้านเทคโนโลยี แต่ยังได้เปรียบเพื่อนบ้านตรงที่แรงงานมีคุณภาพมากกว่า
2.การวิจัยและนวัตกรรม เพราะอาร์แอนด์ดีต่อจีดีพียังต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ต้องพัฒนา R&D ให้สูงขึ้น ให้สามารถพัฒนาต่อได้ 3.โครงสร้างพื้นฐานและซอฟต์แวร์ ต้องพัฒนาโดยเฉพาะบริเวณแม่น้ำโขง เชื่อมแม่น้ำโขงและบริเวณริมฝั่งโขงได้ รวมไปถึงระบบรางรถไฟ ด้านซอฟแวร์คือเรื่องศุลกากรต้องพัฒนาอีกมาก ต้องทำให้เป็น Paperless ให้ได้
นอกจากนี้ ประธานเจโทรระบุว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นได้ทำโครงการ Pilot Business Tie-up 4 บริษัท ร่วมกับไทย โดย 2 บริษัท คือ บริษัทที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหารถติด และบริษัทที่จะเข้ามาพัฒนาโครงสร้างและปรับปรุงโรงงาน
เมติชี้กุญแจ “การเชื่อมโยง”
นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรม ของญี่ปุ่น (เมติ) กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า บริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนนับตั้งแต่ช่วงปี 1980 เป็นต้นมา
ตนเคยมาไทยในปี 1990 มาทำงานบริษัทเอกชน เทียบกับวันนี้ไทยพัฒนาไปมาก แต่มีกุญแจสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยพัฒนาต่อไปได้ คือ เรื่องการเชื่อมโยง
ปัจจุบันโลกเผชิญหน้ากับการปฏิรูปเศรษฐกิจ ยุคที่ 4 ทางญี่ปุ่นได้หารือกันว่าจะทำอย่างไร และเอเชียในฐานะภูมิภาคการผลิต จะทำอย่างไร ได้คำตอบว่า ญี่ปุ่นมีดาต้ามากมายที่เก็บเอาไว้ แต่ไม่ได้ใช้งาน เป็นดาต้าที่มีคุณภาพ หากนำมาแบ่งปันกัน เชื่อมโยงในหมู่กลุ่มธุรกิจ น่าจะมีประโยชน์มากกว่า
“ญี่ปุ่นมองว่าหากใช้ข้อมูลมาเชื่อมโยง ทั้งข้อมูลนวัตกรรม หุ่นยนต์ เทคโนโลยี คน จะทำให้ทั้งญี่ปุ่นและเอเชียสามารถก้าวข้ามผ่านการปฏิรูปเศรษฐกิจ ยุคที่ 4 ไปได้ ญี่ปุ่นไม่ได้ต้องการให้ข้อมูลต่าง ๆ เป็นประโยชนแค่ในประเทศเท่านั้น แต่รวมถึงซัพพลายเชนนอกประเทศด้วย”
ขณะที่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟทิงส์ (ไอโอที) จะมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการเชื่อมโยงต่าง ๆ ตามแนวคิด Connected Industry เมื่อญี่ปุ่นถ่ายทอดข้อมูลและความรู้ให้ไทยแล้ว ไทยสามารถใช้ข้อมูลต่าง ๆ ส่งต่อให้เพื่อนบ้านได้ด้วย โดยใช้ประโยชน์จากภูมิยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางอาเซียน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นต้องการสนับสนุนสตาร์ตอัพของไทย เบื้องต้นจะร่วมมือผลักดันสตาร์ตอัพด้านอุตสาหกรรมแพทย์
ตั้งคณะทำงานเคลียร์ปม EEC
ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่า หลังหารือพบว่านักลงทุนญี่ปุ่นมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น แต่มีบางประเด็นที่นักลงทุนไทยและญี่ปุ่นยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ EEC คล้าย ๆ กัน ซึ่งตนได้ลิสต์ไว้ 10 เรื่อง เช่น การให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุนมีลิมิตอย่างไร ถึงเมื่อไหร่ การแอปพลายสิทธิประโยชน์ จึงได้ตั้งคณะทำงานติดตามและประสานงาน โดยนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) และนายสุรงค์ บูลกุล ร่วมดูแลกับกรรมการอีก 5-6 คน
นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า ปีนี้ JTEPA ครบรอบ 10 ปี ภาคเอกชนอยากให้รัฐเจรจาทบทวนความตกลง ขอให้ญี่ปุ่นเปิดตลาดสินค้าให้ไทยมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเกษตร อาหาร ควรปลดล็อกโควตานำเข้าสินค้าบางรายการ และยกเลิกเงื่อนไขกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าที่เป็นอุปสรรคการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะทูน่า เพราะปัจจุบันนักลงทนญี่ปุ่น เช่น อิโตชู มิตซูบิชิ มาร่วมทุนกับบริษัทอาหารในไทย หากญี่ปุ่นเปิดตลาด นักลงทุนญี่ปุ่นจะได้ประโยชน์ด้วย
ญี่ปุ่นจี้ไทยแก้ 3 ปม EEC
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังเดินทางไปญี่ปุ่น ในฐานะคณะกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า หน่วยงานญี่ปุ่นทั้งรัฐและเอกชนเห็นตรงกันเรื่องการลงทุนในอีอีซี ต้องการให้ไทยเร่งปรับแก้และผ่อนปรนเงื่อนไขกฎระเบียบ 3 ข้อ คือ 1.อัตราค่าจ้างแรงงานที่ปรับขึ้นตลอด 2.สัดส่วนการใช้ผู้เชี่ยวชาญระหว่างญี่ปุ่น : ไทย 1 : 4 คน 3.สัดส่วนการถือหุ้นต่างชาติ : ไทย 49 : 51 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงการขอใบอนุญาตในจุดเดียว ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างแก้ไขตามที่นักลงทุนต้องการ
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ