IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | an6n@yahoo.com
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ประเทศไทย 4.0 อนาคตเศรษฐกิจดิจิทัล” ในงาน Digital Thailand Big Bang 2017 : Digital Transformation Thailand ว่า โลกกำลังเปลี่ยนแปลง ก้าวเข้าสู่สังคมยุคดิจิทัล ประเทศไทยมีองค์ความรู้ในเรื่องดิจิทัลช้ากว่ามาเลเซีย 20 ปี แต่นับจากนี้จะต้อง speed up ในอนาคตประเทศไทยจะก้าวตามทันและจะแซงหน้ามาเลเซียด้วย
งาน Digital Thailand Big Bang 2017 ต้องการตีให้ดัง ให้ bang ไปทั้งเอเชีย ไปทั้งโลก ว่า
ประเทศไทยจะเป็น digital hub of region ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน เพราะประเทศไทยมี infrastructure พร้อมสรรพและมีภูมิศาสตร์ที่เป็นเส้นทางพาดผ่าน One Belt One Road โครงการ Submarine Cable (เคเบิลใต้น้ำ) ปี 2561 ต้องเกิดขึ้นให้ได้ เพราะเป็นโครงการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทั่วทั้งเอเชียและก้าวไปสู่ประเทศแห่งดิจิทัลได้อย่างแท้จริง
ตั้งเป้า startup nation อีก 5 ปี
นายสมคิดกล่าวว่า สตาร์ตอัพ คือสิ่งที่ต้องสานต่อ เพราะประเทศต้องการธุรกิจของคนรุ่นใหม่ ได้หารือกับคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หาทางร่วมมือเพื่อก่อตั้งกองทุนสตาร์ตอัพในแต่ละคลัสเตอร์ อาทิ โรโบติก (AI) ไบโออีโคโนมี และขายหน่วยลงทุนในกองทุนโดยได้ผลตอบแทนเป็นนวัตกรรมภายใต้การจดทะเบียนลิขสิทธิ์เพื่อสร้างรายได้ ประเทศไทยจะเป็น startup nation ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยจะขับเคลื่อนเรื่อง big data เชื่อมโยงข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ประโยชน์ทางเศรษฐกิจในการเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจ 4.0 เชื่อมจาก big data สู่ open data ทำให้เกิดพลังอย่างมหาศาล ความโปร่งใสจะเกิดขึ้น คอร์รัปชั่นยากขึ้น
รัฐบาลเร่งวางพื้นฐาน
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เมื่อโลกเปิดเราปรับประเทศเปลี่ยน ทุกวันนี้เด็ก ๆ ตื่นตัวแล้ว เด็ก ป.5 สามารถสร้างอุปกรณ์ IOT สำหรับเปิดปิดประตูน้ำ ประเทศไทยมีความเปลี่ยนแปลงแล้ว รัฐบาลเริ่มขับเคลื่อนนวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน ให้รัฐบาลต่อ ๆ ไปเข้ามาทำงานต่อเนื่องได้
“ถ้าเที่ยวนี้เรากระตุกให้ตื่นตัวได้สำเร็จ 3 ปี 5 ปีจะเห็นหน้าเห็นหลังชัดเจน เพราะดิจิทัลจะทำให้เกิดอัตราเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทำให้การลดความเหลื่อมล้ำทำได้รวดเร็ว เน็ตประชารัฐด้วยความร่วมมือของรัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน 75,000 หมู่บ้านต้องเสร็จ มีบรอดแบนด์ทั้งประเทศ ถ้าเอกชนช่วยลดมาร์จิ้นจากค่าบริการ จะทำให้ราคาที่ชาวบ้านต้องจ่ายจะอยู่ในราคาที่เป็นไปได้มากขึ้น ซึ่งอาจจะไม่ใช่ราคาเดียว แต่มีราคาพื้นฐานสำหรับ 30 Mbps/10 Mbps (ดาวน์ลิงก์/อัพลิงก์) จะทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนจริง ๆ”
ไม่เปลี่ยนไมนด์เซตสูญพันธุ์
นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า วัฒนธรรมของบริษัทเทคโนโลยีคือใช้คนน้อยใช้เทคโนโลยีเยอะสำหรับการให้บริการลูกค้า เป้าหมายของบริษัทคือสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่โลกดิจิทัล สู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการนำเทคโนโลยีเชื่อมโลกออฟไลน์กับออนไลน์ เชื่อมร้านค้าคนขายของธุรกิจทุกรูปแบบไปถึงผู้บริโภค
“ไลน์ตั้งสำนักงานในไทย 4 ปีก่อน มีพนักงานแค่ 3 คน ทุกวันนี้มี 200 คน ดูแลลูกค้ากว่า 41 ล้านราย ใช้คนน้อย แต่เทคโนโลยีเยอะ บริการของไลน์ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่แชต แต่ยังมีบริการที่หลากหลาย ส่วนใหญ่เพิ่งมีอายุ 1-2 ปี โลกทุกวันนี้อีก 3 ปีจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ในยุคนี้องค์กรที่ยังวางแผนระยะยาวอาจจะอยู่ไม่รอด”
บริการของไลน์จะช่วยเชื่อมต่อผู้ประกอบการกับผู้บริโภคได้ อย่าง LINE@ มี SMEs ใช้งานแล้ว 1.6 ล้านราย LINE Man เชื่อมต่อกับร้านอาหารแล้วถึง 3 หมื่นราย ช่วยให้ร้านค้าอยู่ที่เดิมแต่ผู้บริโภคขยายวงขึ้น และในไตรมาสที่ 4 จะมีบริการ LINE Taxi ที่จะช่วยให้คนขับแท็กซี่ 6 หมื่นคน หรือ 2 ใน 3 ของคนขับแท็กซี่ทั้งหมดมีรายได้เพิ่มขึ้น
“ไทยคือประเทศเดียวที่มีบริการ LINE Man เพราะคิดนวัตกรรมโดยคนไทยเพื่อคนไทย ไลน์เชื่อว่าเทคโนโลยีไม่จำเป็นต้องดิสรัปต์ทุกอย่าง จึงเป็นที่มาของ LINE Taxi ที่คนขับทั้งหมดถูกกฎหมาย 100% และยังมีอาชีพใหม่อย่างนักวาดสติกเกอร์ไลน์ที่ปัจจุบันมีกว่า 120,000 คน นี่คือยุค 4.0 ยุคใหม่ของอาชีพของคนรุ่นใหม่ เราพร้อมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่โลกดิจิทัล สู่ไทยแลนด์ 4.0”
ด้านนายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจของอนันดาฯไปได้ดี แต่หลังผ่านวิกฤตปี 2540 ทำให้รู้ว่าอะไรก็ไม่แน่นอน บริษัทที่ตั้งมาเป็นร้อยปียังล้มได้ บริษัทชั้นนำในฟอร์จูน 500 อายุสั้นลงเรื่อย ๆ จากปี ค.ศ. 1935 เคยมีอายุถึง 90 ปี แต่ปี ค.ศ. 2005 เหลือแค่ 15 ปี
เวิลด์แบงก์ยังคาดการณ์ว่า ปัญญาประดิษฐ์, โรโบติกจะทำให้คนตกงานมากขึ้น ซึ่งในไทยเสี่ยงถึง 72%
“เป้าหมายของอนันดาฯคือ หาโซลูชั่นใหม่ ๆ ให้สังคม เปิดพื้นที่ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกันพร้อมกันบนคลาวด์ได้ จึงพยายามดีไซน์ออฟฟิศตัวเองให้สามารถคอลลาบอเรชั่นได้ดี สนับสนุนระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงแต่สิ่งสำคัญที่สุดคือวัฒนธรรมองค์กรไมนด์เซตที่พร้อมจะปรับเปลี่ยน เพราะถ้ายุทธศาสตร์ดีขนาดไหน แต่วัฒนธรรมองค์กร ไมนด์เซตไม่เปลี่ยนก็กลายเป็นไดโนเสาร์ที่จะสูญพันธุ์”
ดิสรัปต์ตัวเอง-รีสกิล
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า มีงานวิจัยที่มีการทำนายไว้แล้วว่าอีก 10-12 ปี การดิสรัปต์ของเทคโนโลยีของ AI Automation ที่มีดิจิทัลเชื่อมโยง จะทำให้เกิดการทดแทนการทำงานทั้งหมด ไม่ใช่แค่แรงงานหรือมนุษย์ออฟฟิศ ถึง 50% โดยส่วนใหญ่เป็นมนุษย์ออฟฟิศที่ทำงานในรูปแบบเดิม ๆ จากเทคโนโลยีคลาวด์, AI Automation ซึ่งในไทยคาดว่าจะถูกทดแทนถึง 72% ฉะนั้นถ้าไม่เริ่มทรานส์ฟอร์มตั้งแต่วันนี้จะถูกดิสรัปต์
“นักกฎหมาย ครูอาจารย์ ศิลปิน 3 อาชีพนี้จะไม่ถูกแทนที่ด้วย AI และ Automation ได้ง่าย ๆ ทุกวันนี้ความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ไม่พอแล้ว ความสามารถในการใช้อุปกรณ์และศักยภาพเพื่อการสื่อสารและทำงานร่วมกัน และการแสดงออกจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ฉะนั้นในระดับบุคคล ผู้บริโภคมีการปรับตัวเร็วมาก แต่ภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน หรือแม้แต่ภาครัฐ ปรับตัวช้ามาก เพราะยังติดกับระบบเก่า”
“องค์กรไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ต้องมีการรีสกิล คือการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ดึงคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพจากการเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี และดึงบุคลากรเก่าให้รีสกิลด้วย ต้องระดมพนักงานมาช่วยกันฝ่าการดิสรัปต์ ซึ่งอาจจะเป็นการลงทุนในสตาร์ตอัพ หรือเข้าซื้อกิจการอื่น เพื่อดึงคนเข้ามาดิสรัปต์ตัวเอง ก่อให้เกิดกระบวนการทรานส์ฟอร์มอย่างมหภาค คู่ไปกับการปฏิรูปการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรให้พร้อม ให้คนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดิสรัปต์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะกระตุ้นให้ SMEs เปลี่ยนแปลงด้วย ไม่เช่นนั้นจะถูกดิสรัปต์และมีสตาร์ตอัพกลายเป็น SMEs รุ่นใหม่แทน”
หากประเทศไทยทำได้จะกลายเป็นฮับของภูมิภาค การดิสรัปต์ครั้งนี้จะเป็นกลไกสำคัญของภูมิภาคด้วย ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมและไม่แพ้ประเทศอื่น ด้วยการแข่งขันกันเองของภาคเอกชน และการส่งเสริมของรัฐบาล
ธปท.วางมาตรฐานกลาง
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน กล่าวว่า บทบาทของแบงก์ชาติในฐานะผู้กำกับดูแลให้ระบบมั่นคงเข้มแข็งและมีเสถียรภาพ รวมถึงมีการพัฒนาเพื่อให้มีบริการใหม่ ๆ ตอบสนองผู้บริโภค ซึ่งในช่วง 2-3 ปีนี้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่เพิ่มประสิทธิภาพ แต่ในแง่ลบถ้าปรับตัวไม่ได้จะกลายเป็นลดทอนความสามารถในการแข่งขัน แบงก์ชาติจึงต้องส่งเสริมให้สถาบันการเงินปรับตัว ที่เห็นได้ชัดคือโทรศัพท์มือถือที่นำมาใช้ในบริการทางการเงินใหม่ ๆ
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ