Login to your account

Username *
Password *
Remember Me

Create an account

Fields marked with an asterisk (*) are required.
Name *
Username *
Password *
Verify password *
Email *
Verify email *
Captcha *
Reload Captcha

BOSCH ฝ่าวิกฤต ผลประกอบการบวก คาร์บอนได้ตามเป้าและรุดหน้ากว่าแผน

"บ๊อช" ฝ่าวิกฤตโคโรน่าไวรัส โชว์ผลประกอบการในแดนบวก พร้อมประกาศความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ตามเป้า และรุดหน้ากว่าแผนที่วางไว้ในปี 2563

  • โชว์ยอดขายรวม 71.6 พันล้านยูโร / กำไรก่อนหักภาษี 1.9 พันล้านยูโร
  • โวคมาร์ เดนเนอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบ๊อช เน้นย้ำว่า “ความยั่งยืนและ AIoT คือหัวใจสำคัญของธุรกิจเราในอนาคต”
  • สเตฟาน อเซนเคียชเบาเมอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของบ๊อช เผยว่า “ความพยายามในการลดต้นทุนและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลให้ฐานการเงินของเราแข็งแกร่งและช่วยให้บริษัทขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพได้”
  • ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนแบบยั่งยืน (Sustainable mobility) ฉายแววสดใส เฉพาะยอดสั่งซื้อเครื่องยนต์ไฟฟ้า คิดเป็นมูลค่า 7.5 พันล้านยูโรในปี 2563
  • ตลาด AIoT เติบโตดีในตลาดโลกที่มีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันได้ถึง 10 ล้านชิ้น ทั้งเครื่องมือไฟฟ้า เครื่องใช้ภายในบ้าน ระบบทำความร้อนที่ได้รับการตอบรับในตลาด โดยมากกว่าร้อยละ 90 ของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของบ๊อช มีจุดเด่นที่ฟีเจอร์การเชื่อมต่อ
  • สำนักงานทุกแห่งของบ๊อช สามารถบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนได้สำเร็จตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่สองปี 2563 และกำลังมีการสอบทานโดยผู้ตรวจสอบอิสระ

ชตุทท์การ์ท, เยอรมนี  – สำหรับปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา กลุ่มบ๊อช แสดงผลประกอบการเป็นบวกได้ แม้จะประสบกับวิกฤตไวรัสโคโรน่าและการถดถอยของอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ในฐานะผู้ผลิตเทคโนโลยีและบริการรายใหญ่ บริษัทฯ ทำผลงานได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยตัวเลขผลประกอบการเบื้องต้น[1] แสดงให้เห็นว่า กำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) คิดเป็นมูลค่า 1.9 พันล้านยูโร อัตรากำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีจึงเท่ากับประมาณร้อยละ 2.5 และหลังจากปรับโครงสร้างค่าใช้จ่าย กำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีจะเท่ากับประมาณ 3.3 พันล้านยูโร หรือมีอัตรากำไรร้อยละ 4.5

[1] อ้างอิงจากรายงานภายในของบริษัท

ยอดขายของกลุ่มบ๊อชโดยรวมเท่ากับ 71.6 พันล้านยูโร ลดลงร้อยละ 4.4 จากปีก่อนหน้าเมื่อหักผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว “แม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค แต่บริษัทก็ยังทำผลประกอบการให้เป็นบวกได้ สิ่งสำคัญที่ต้องขอขอบคุณมากกว่าสิ่งใดคือ ความมุ่งมั่นแรงกล้าของพนักงานทุกคนของเรา” ดร.โวคมาร์ เดนเนอร์ ประธานกรรมการ Robert Bosch GmbH กล่าวในระหว่างนำเสนอผลประกอบการเบื้องต้นของธุรกิจ และเสริมว่าการแตกธุรกิจไปในกลุ่มธุรกิจต่างๆ และขยายฐานไปทั่วโลก ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นแนวทางที่ให้ผลคุ้มค่า

“การลงทุนในธุรกิจที่จะมีความสำคัญในอนาคต เช่น โซลูชั่นการขับเคลื่อนแบบยั่งยืน อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (IoT) และปัญญาประดิษฐ์ เหล่านี้เป็นการปูทางไปสู่ความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมของเรา” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บ๊อชนั้นเชื่อว่า AIoT ที่เป็นการประสานระหว่าง AI และ IoT จะเป็นธุรกิจที่สร้างโอกาสการเติบโตในตลาดมูลค่านับพันล้านได้ “เราต้องการเป็นผู้นำด้าน AIoT” ดร.เดนเนอร์กล่าว

จุดแข็งที่เรามีองค์ความรู้กว้างขวางหลายแขนง รวมทั้งความเชี่ยวชาญเชิงลึกด้านอิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์ ทำให้เรามีแต้มต่อเหนือคู่แข่ง

ปฏิบัติการที่ทันการณ์ ส่งผลให้กระแสเงินสดและสถานะทางการเงินคล่องตัวสูง
หลังจากที่ยอดขายของบ๊อชลดฮวบสืบเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์เมื่อช่วงไตรมาสที่สองของปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศและหลายอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ต่างก็ฟื้นตัวขึ้นมากในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 “เราพึงพอใจในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางที่พัฒนาขึ้นมาในช่วงปี 2563 แม้จะต้องประสบกับวิกฤต” ศ.สเตฟาน อเซนเคียชเบาเมอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและรองประธานกรรมการกล่าว “เราบริหารจัดการต้นทุนและใช้จ่ายการลงทุนให้สมดุลได้อย่างทันท่วงทีในขณะที่ยอดขายลดลง โดยไม่ได้ละเลยการเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจใหม่” ผลที่ตามมาคือ บ๊อชมีกระแสเงินสดเหลือเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5 พันล้านยูโร ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของบริษัท ยิ่งเพิ่มความมั่นใจในสถานะการเงินของบริษัทว่าจะมีความคล่องตัวเพียงพอในช่วงวิกฤต การที่บ๊อชมีอัตราค่าใช้จ่ายลงทุนประมาณร้อยละ 5 ทำให้ประหยัดเงินสดไปได้ประมาณหนึ่งพันล้านยูโรเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

เติบโตอย่างยั่งยืนโดยเน้นความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศและระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า

แม้จะประสบกับภาวะวิกฤต แต่บ๊อชก็ยังคงเน้นกลยุทธ์โดยให้ความสำคัญกับธุรกิจแห่งอนาคต และเน้นแนวปฏิบัติที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืน บริษัทประสบความสำเร็จไปอีกขั้นในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2563 แม้ในสถานการณ์โรคระบาด โดยบรรลุเป้าหมายในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนในสำนักงานครบทั้ง 400แห่งทั่วโลก “เรายึดมั่นคำสัญญา จากการคำนวณภายในองค์กร บ๊อชได้กลายเป็นองค์กรอุตสาหกรรมที่มีฐานกระจายอยู่ทั่วโลกแห่งแรก ที่สามารถบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2563 ซึ่งเร็วกว่าเป้าที่วางไว้ สามารถชดเชยคาร์บอนและประหยัดต้นทุนได้มากกว่าที่ตั้งเป้าไว้” ดร.เดนเนอร์กล่าวและอธิบายว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการสอบทานโดยผู้ตรวจสอบภายในอิสระ นอกจากนี้ เขายังย้ำถึงเป้าหมายต่อไปของบ๊อชที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ร้อยละ 15 ให้ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานภายในปี 2573

บ๊อชได้นำประสบการณ์ความสำเร็จในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน ไปแบ่งปันให้แก่บริษัทอื่น ผ่านทางสายงาน Bosch Climate Solutions ที่มีลูกค้าอย่าง Freudenberg, Hansgrohe และ Koehler Paper Group “บริการใหม่ของเราคือ การเป็นที่ปรึกษา เพื่อช่วยให้บริษัทอื่นอีกหลายแห่งมีความเป็นกลางทางคาร์บอนได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นช่องทางการเติบโตของธุรกิจเราทางหนึ่ง” ดร.เดนเนอร์กล่าว

ด้วยเหตุนี้ บ๊อชจึงเน้นพัฒนาโซลูชั่นเดิมหรือคิดค้นโซลูชั่นใหม่ๆ ให้รองรับอนาคตแห่งการขับเคลื่อน ดร.เดนเนอร์อธิบายว่า บริษัทได้ลงทุนไปแล้ว 5 พันล้านยูโรในด้านระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และในปีนี้จะลงทุนอีก 700 ล้านยูโรเพื่อพัฒนาโซลูชั่นการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งรวมถึงเซลล์เชื้อเพลิง มูลค่าการลงทุนนี้คิดเป็นร้อยละ 40 ของปีที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อมุ่งพัฒนาการขับเคลื่อนที่ยั่งยืน

“ในอนาคตอันใกล้ การขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจะเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของบ๊อช เป้าหมายของเราคือ การเป็นผู้นำตลาดระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า สำหรับรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่และเซลล์เชื้อเพลิง” ดร.เดนเนอร์กล่าว “เรามีพอร์ตผลิตภัณฑ์และบริการด้าน e-mobility มากกว่าบริษัทอื่น ตั้งแต่ e-bike ไปจนถึงรถบรรทุก” นอกจากนี้ เขายังอธิบายว่า การที่บ๊อชลงทุนในธุรกิจด้านนี้ล่วงหน้าไปก่อน ได้ให้ดอกผลกลับคืนมาแล้ว เพราะธุรกิจระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามีอัตราการเติบโตที่เร็วกว่าตลาดถึงสองเท่าและมีมูลค่าหลายพันล้านยูโร นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา บ๊อชดำเนินโครงการระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าไปแล้ว 90 โครงการ ซึ่งรวม 30 โครงการในปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่าถึง 7.5 พันล้านยูโร ปัจจุบันยานยนต์กว่า 2.5 ล้านคันทั่วโลกมีส่วนประกอบของระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าของบ๊อช

การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง ทำให้การเปลี่ยนผ่านราบรื่น

ดร.เดนเนอร์ยังเปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของอุตสาหกรรมและมาตรฐาน Euro7 ทำให้อุตสาหกรรมประสบกับช่วงเปลี่ยนผ่านอันท้าทาย “ยุคแห่งระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ากำลังจะมาถึง และบ๊อชได้ดำเนินการเชิงรุกให้พร้อมรองรับมาหลายปีแล้ว” เขากล่าวและเสริมว่า “แต่การที่ต้องลงทุนล่วงหน้าจะต้องมีแหล่งเงินทุนมาจากธุรกิจระบบขับเคลื่อนของเรา” เพื่อรักษาทีมให้ไปพร้อมด้วยกันในช่วงเปลี่ยนผ่าน บ๊อชและบริษัทต่างๆ ในเครือจำเป็นต้องทำให้ช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่น “รถยนต์ไฟฟ้าจะมีความเป็นกลางทางคาร์บอนเมื่อใช้ระบบไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รถยนต์ที่ใช้ดีเซลและเบนซินเองก็ควรต้องใช้เชื้อเพลิงสังเคราะห์ เราไม่ควรทำให้มาตรฐาน Euro7 มาเป็นอุปสรรคต่อการช่วยลดโลกร้อน” แม้แต่ในปัจจุบัน เครื่องยนต์ดีเซลและเบนซินก็ไม่ได้ส่งผลต่อคุณภาพอากาศในเมืองอย่างมีนัยสำคัญ “การที่สภาพสังคมและเศรษฐกิจดีอยู่แล้ว ไม่ได้หมายความว่าควรจะละเลยเรื่องสภาพสิ่งแวดล้อม” ดร.เดนเนอร์เผย “เราต้องสร้างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ นิเวศวิทยา และสังคมไปพร้อมกัน” การช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์เปลี่ยนผ่านไปสู่การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สู่การขับเคลื่อนสีเขียว ขณะที่ยังคงรักษาการจ้างงานไว้ได้นั้น ควรเป็นเป้าหมายที่อุตสาหกรรมต้องไปให้ถึง

AIoT มีโอกาสเติบโตสูง ผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมต่อถึงกันชาญฉลาดมากขึ้น

การนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาผนึกกับอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (IoT) เป็นการปูทางไปสู่ตลาดที่มีมูลค่านับพันล้าน บริษัทจึงใช้ โซลูชั่น IoT สร้างสรรค์คุณค่าให้ลูกค้าได้เพิ่มขึ้น โดยลดต้นทุนด้านพลังงาน ขณะที่เพิ่มความสะดวกสบายและความปลอดภัยให้มากขึ้น การเชื่อมต่อถึงกันทำให้มีข้อมูลว่ามีการใช้ผลิตภัณฑ์ของบ๊อชไปในลักษณะใด บ๊อชอยากจะใช้ประโยชน์ด้านนี้ในการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้งาน ผ่านทางการอัปเดตซอฟต์แวร์ หรือใช้เป็นฐานต่อยอดไปสู่ฟังก์ชั่นหรือบริการใหม่ๆ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บ๊อชได้วางรากฐานด้านเทคนิคที่จำเป็นเอาไว้แล้ว มีทั้งชุดซอฟต์แวร์ IoT ที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ เซ็นเซอร์ เกตเวย์ และโครงสร้างระบบคลาวด์ที่ประมวลผลข้อมูล นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์ม AI ที่ช่วยยกระดับสมรรถนะ สามารถนำ AI ไปใช้กับระบบต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว “ขั้นตอนต่อไปคือ การเปลี่ยนความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคให้กลายเป็นธุรกิจ” ดร.เดนเนอร์กล่าว บ๊อชมีการจำหน่ายอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อถึงกันได้นับสิบล้านชิ้น ทั้งเครื่องมือไฟฟ้า เครื่องใช้ในบ้าน ระบบทำความร้อน จำนวนผู้ใช้ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เมื่อบริษัทต้องการต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านเอไอ จึงได้ตั้ง Bosch Center for Artificial Intelligence (BCAI) ขึ้นมาเมื่อต้นปี 2560 เป็นการมองการณ์ไกลที่ให้ผลในปัจจุบัน เพราะเพียงสามปีหลังการก่อตั้งก็คุ้มค่าการลงทุนที่คิดเป็นมูลค่าราว 300 ล้านยูโร ตอนนี้ BCAI มีผู้เชี่ยวชาญด้าน AI รวม 270 คนที่กำลังขะมักเขม้นทำงาน 180 โครงการในด้านระบบการขับเคลื่อน การผลิต ระบบบ้านอัจฉริยะ และด้านการเกษตร

สายงานใหม่ที่เชี่ยวชาญด้านโซลูชั่นที่เชื่อมต่อแบบข้ามโดเมน (Cross-Domain Computing Solutions) มีพนักงานประมาณ 17,000 คนช่วยขับเคลื่อนให้บ๊อชก้าวไปสู่การเป็นบริษัทแห่ง AIoT ชั้นนำได้ “สายงานใหม่ได้รวมพัฒนาการของทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เข้ามาใช้ในสถาปัตยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของยานยนต์” ดร.เดนเนอร์กล่าว “นี่จะเป็นประตูไปสู่ตลาดใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะในรถยนต์ที่ยกระดับไปอีกขั้น” เฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของ 2563 บ๊อชได้รับคำสั่งซื้อระบบคอมพิวเตอร์ในรถยนต์มูลค่า 2.5 พันล้านยูโรแล้ว และมีดีลอื่นๆ อีกมูลค่านับพันล้านที่จะตามมาในปีนี้

บ๊อชกำลังพัฒนาการนำ AIoT ไปใช้ในธุรกิจต่างๆ ตัวอย่างหนึ่งคือ Aviotec ซึ่งเป็นระบบการตรวจจับอัคคีภัยผ่านวิดีโอโดยใช้ AI ตรวจจับควันและเปลวไฟแม้จะมีแสงจากอินฟราเรดเพียงแหล่งเดียวก็ตรวจจับได้ อีกตัวอย่างหนึ่งคือ แพลตฟอร์มแอปพลิเคชั่นสำหรับการตรวจดูชิ้นงานโดยใช้ AI ซึ่งช่วยตรวจจับได้แม้จะมีเพียงรอยขีดข่วนเล็กๆ บนพื้นผิว สำหรับการติดตามการออกกำลังกาย ก็มี เซ็นเซอร์ ที่ใช้ edge AI ช่วยลดความหน่วงและการกินพลังงาน โดยเทคโนโลยีอัจฉริยะนี้อยู่ที่ตัวเซ็นเซอร์เอง

การเติบโตของธุรกิจในปี 2563 จำแนกตามกลุ่มธุรกิจ

ยอดขายในกลุ่มธรกิจต่างๆ ลดลงอันเป็นผลเนื่องมาจากภาวะโรคระบาด มีเพียงกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้นที่ยอดขายมีอัตราการเติบโต ธุรกิจโซลูชั่นแห่งการขับเคลื่อน (Mobility Solutions) ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการหยุดชะงักของสายการผลิตรถยนต์ ทำยอดขายได้ 42.3 พันล้านยูโร อย่างไรก็ดี แม้จะมียอดขายลดลงจากปีก่อนร้อยละ 9.5 ธุรกิจก็ยังโตได้เร็วกว่าตลาดโดยรวมที่การผลิตรถยนต์หดตัวถึงร้อยละ 15 และเมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยอดขายจะลดลงไปร้อยละ 8.1 สำหรับกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เป็น 18.6 พันล้านยูโร เมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว จะมียอดขายเพิ่มร้อยละ 8.2 กลุ่มธุรกิจเครื่องใช้ในบ้านและเครื่องมือไฟฟ้านั้น ได้ประโยชน์จากการที่ผู้บริโภคทำกิจกรรมเกี่ยวกับการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมรอบบ้าน ส่วนกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีอุตสาหกรรม แม้จะมียอดขายพุ่งขึ้นมาตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่สาม แต่ก็ไม่สามารถหลุดพ้นภาวะการอ่อนตัวของตลาดที่ยาวนานต่อเนื่อง ทำให้มียอดขายรวม 5.1 พันล้านยูโร ลดลงร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และเมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว จะมียอดขายลดลงร้อยละ 15 สำหรับกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานและอาคาร ทำยอดขายได้ 5.4 พันล้านยูโร ซึ่งแม้ธุรกิจระบบทำความร้อนจะได้รับการสนับสนุนและดำเนินไปด้วยดี แต่การยกเลิกการจัดงานต่างๆ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีด้านการประชุมและสัมมนา ยอดขายจึงลดลงร้อยละ 3.4 หรือร้อยละ 2 หลังปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว

การเติบโตของธุรกิจในปี 2563 จำแนกตามภูมิภาค

บ๊อชตระหนักดีถึงผลกระทบจากยอดขายที่ลดลงอย่างมากในช่วงไตรมาสที่สองของปีในทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นยอดขายในยุโรป ที่มีมูลค่ารวม 38 พันล้านยูโร หรือลดลงร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หรือร้อยละ 4.6 เมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยอดขายในอเมริกาเหนือก็ลดลงในอัตราร้อยละ 14 เป็น 10.8 พันล้านยูโร หรือคิดเป็นลดลงร้อยละ 12 เมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ทางด้านอเมริกาใต้ มียอดขายรวม 1.1 พันล้านยูโร ลดลงร้อยละ 21 เมื่อคิดเป็นตัวเงินแต่เมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยอดขายจะลดลงร้อยละ 2.5 เท่านั้น  สำหรับเอเชียแปซิฟิกมียอดขายรวม 21.7 พันล้านยูโร ลดลงเพียงร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน และเมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยอดขายกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ทั้งนี้ การฟื้นตัวเร็วของตลาดและการเติบโตของตลาดจีนมีส่วนช่วยอย่างมาก เป็นครั้งแรกที่ยอดขายในจีนมีมูลค่าสูงเกินกว่ายอดขายในเยอรมนี และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของบ๊อช

จำนวนพนักงานในปี 2563 แสดงถึงการจ้างงานที่มั่นคง

กลุ่มบริษัทบ๊อชมีการจ้างงานประมาณ  394,500 คนทั่วโลก จากข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 แสดงให้เห็นว่า บ๊อชสามารถรักษาระดับการจ้างงานส่วนใหญ่เอาไว้ได้ โดยมีการเปลี่ยนแปลงในตลาดจีนและเยอรมนีเป็นส่วนใหญ่ บ๊อชมีพนักงานด้านวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพื่อรองรับการลงทุนเชิงกลยุทธ์หลักที่วางไว้

คาดการณ์ภาพรวมในปี 2564 วางเป้าฟื้นธุรกิจอย่างแข็งแกร่งหลังผ่านพ้นวิกฤต

บ๊อชคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในปี 2564 หลังจากที่หดตัวไปประมาณร้อยละ 4.5 ในปีที่แล้ว บ๊อชคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตได้เกือบร้อยละ 4 ในปีนี้ “วิกฤตยังไม่สิ้นสุด” ศ.อเซนเคียชเบาเมอร์กล่าว ด้วยเห็นว่าไม่เพียงแต่อัตราการติดเชื้อยังสูงอยู่ต่อเนื่อง แต่ยังมีข้อจำกัดทางสังคมและเศรษฐกิจอีกที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวม เขายังอธิบายเพิ่มเติมว่า ประเด็นทางการเมืองเรื่อง Brexit และการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ก็ยังดำเนินต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะมีการสร้างข้อจำกัดทางการค้าที่จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกอีกด้วย

“แม้ว่าจะมีอุปสรรคหรือปัจจัยท้าทายต่างๆ แต่เป้าหมายของบ๊อชก็ยังคงมุ่งสู่การเติบโตอย่างแข็งแกร่งให้มากกว่าตลาดในทุกกลุ่มธุรกิจ และในภูมิภาคต่างๆ ที่มีความสำคัญสำหรับเรา” ทั้งนี้ ไม่ว่าการแพร่ระบาดของโรคจะรุนแรงขึ้นหรือไม่ก็ตาม แต่บ๊อชก็ยังคงปรับตัวต่อเนื่องเพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างที่เปลี่ยนไป และจะทำให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายในสังคม “ความพยายามของเราในการลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ส่งผลให้สถานะทางการเงินของเราแข็งแกร่ง และสามารถขยายไปสู่ตลาดและธุรกิจใหม่ๆ ได้อย่างสมเหตุสมผล”



รับข่าวสารก่อนใคร ฉับใวถึงมือคุณ
เพิ่มเราเป็นเพื่อน แอดไลน์ @610nusdc
เพิ่มเพื่อน

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Sunday, 14 February 2021 05:28
อดิพันธ์ อภิชาติทนงกุล

Author : เกาะติดข่าวในอุตสาหกรรมยานยนต์ Automotive อากาศยาน อิเล็กทรอนิกส์ แม่พิมพ์ เครื่องจักร การแปรรูปโลหะ วิศวกรรม เครื่องมือแพทย์ และหุ่นยนต์

รวมถึงเทคโนโลยีในด้านนั้นๆ

Latest from อดิพันธ์ อภิชาติทนงกุล

Related items

Leave a comment

Make sure you enter all the required information, indicated by an asterisk (*). HTML code is not allowed.


  
X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM