IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | an6n@yahoo.com
นายประกอบเกียรติ นินนาท กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บาฟส์ เปิดเผยถึงการดำเนินธุรกิจในปี 2564 ว่า ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศและทั่วโลก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อน ได้สร้างผลกระทบต่อธุรกิจทั่วโลก โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบิน อย่างไรก็ตาม บาฟส์ยังคงเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวไทยในระยะยาว ซึ่งบาฟส์ได้กำหนดยุทธศาสตร์องค์กร ปี 2564-2567 เพื่อการเติบโตของกลุ่มบริษัทอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าภายในปี 2567 จะมีส่วนแบ่งรายได้ของธุรกิจหลัก (Core Business) คือธุรกิจบริการน้ำมันอากาศยาน 43% และธุรกิจอื่น ๆ (Non-Core Business) 57% เพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้และกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพิงรายได้จากธุรกิจหลัก
โดยบาฟส์จะเดินหน้ารักษาศักยภาพและความแข็งแกร่งของธุรกิจหลัก พร้อมการขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่สามารถตอบสนองโลกยุคใหม่ทั้งในเรื่อง Digital Transformation และ Disruption เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อปัจจัยต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า กลุ่มบริษัทจะมีรากฐานที่แข็งแรงและสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนเพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ สำหรับปี 2564 บาฟส์มีแผนดำเนินธุรกิจ ดังนี้
- ธุรกิจหลัก – รักษาความแข็งแกร่งของการให้บริการธุรกิจหลักครบวงจร โดยมีโครงการที่จะลงทุนขยายการให้บริการน้ำมันอากาศยานไปยังท่าอากาศยานในต่างจังหวัดที่มีศักยภาพ ซึ่งบริษัทอาจจะดำเนินการด้วยตนเองหรือเข้าร่วมทุนกับผู้ประกอบการรายอื่น นอกจากนี้ บริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด (TARCO) ผู้ให้บริการระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานผ่านท่อแบบ Hydrant ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กำลังดำเนินโครงการระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานผ่านท่อแบบ Hydrant ระยะที่ 2 ภายใต้โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ซึ่งประกอบไปด้วยหลุมจอดอากาศยานแบบแนบประชิดอาคารทั้งหมด 28 หลุมจอด ให้บริการด้วยระบบท่อส่งน้ำมันใต้ดินทั้งหมด โดยมีการก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว 100% ในเดือนมิถุนายน 2562 พร้อมทั้งการทดสอบระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานอย่างเต็มรูปแบบด้วยน้ำมันอากาศยานจริงในเดือนมกราคม 2564 โดยคาดว่า จะทดสอบเตรียมความพร้อมการเปิดให้บริการจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และการทดสอบระบบปฏิบัติงานต่าง ๆ ร่วมกันแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2565
- ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง - บริษัทวางแผนขยายขอบเขตการทำธุรกิจที่ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริการน้ำมันอากาศยาน คือ บริษัท บาฟส์ อินโนเวชั่น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (BID) ดำเนินการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและซอฟต์แวร์ต่าง ๆ การพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจ Digital Solution การพัฒนาแพลตฟอร์มการบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบินและท่าอากาศยานผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น blockchain และ AI เป็นต้น รวมถึงการพัฒนา Prototype หุ่นยนต์เติมน้ำมันอากาศยานเพื่อติดตั้งกับรถเติมน้ำมันอากาศยาน บริษัท บาฟส์อินเทค จำกัด (BAFS INTECH) ผลิตและจัดจำหน่ายรถเติมน้ำมันอากาศยาน อุปกรณ์เครื่องมือสนับสนุนอากาศยานในภูมิภาค โดยมีการประกอบและจัดจำหน่ายรถเติมน้ำมันอากาศยานให้กับประเทศเมียนมาและลาว รวมทั้งร่วมมือกับบริษัทชั้นนำของยุโรปในการพัฒนารถเติมน้ำมันอากาศยานไฟฟ้า (Electronic Vehicle- EV) และการเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น วาล์วในงานด้านอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมปิโตรเลียม
- ธุรกิจใหม่ – บริษัทมีแผนการลงทุนทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างเสริมรายได้และความมั่นคงให้แก่ธุรกิจของบริษัท ตลอดจนกระจายรายได้และสร้างความสมดุลให้แก่โครงสร้างรายได้ของบริษัท โดย บริษัท บาฟส์ คลีน เอนเนอร์ยี่ คอร์เปอเรชั่น จำกัด (BC) ได้ลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อม (Renewable energy) และธุรกิจรีไซเคิล (Recycling business) โดยการซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศ จำนวน 7 แห่ง กำลังผลิตรวม 36.4 เมกะวัตต์ มูลค่าประมาณ 1,704.67 ล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มบริษัทโดยทันทีในปี 2564 และมีแผนที่จะซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในต่างประเทศในอนาคต
สำหรับผลการดำเนินการของกลุ่มบริษัท (BAFS และบริษัทย่อย) ในปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้รวมจำนวน 1,882.5 ล้านบาท ลดลง 2,035.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับรายได้รวมของปี 2562 ซึ่งปรับลดลงตามปริมาณน้ำมันอากาศยานที่กลุ่มบริษัทให้บริการ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง และปริมาณน้ำมันจากการให้บริการขนส่งน้ำมันทางท่อ เนื่องจากการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม การเดินทางทางอากาศยานลดลงอย่างมาก ตลอดจนการบริโภคน้ำมันภาคพื้นดินปรับลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งกลุ่มบริษัทได้ดำเนินมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวดและมีประสิทธิภาพ โดยมีต้นทุนบริการจำนวน 1,528.6 ล้านบาท ลดลง 300.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.4 และค่าใช้จ่ายในการบริหารจำนวน 588.9 ล้านบาท ลดลง 112.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 16 ส่งผลให้กลุ่มบริษัทมีผลขาดทุนสุทธิในส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทจำนวน 374.3 ล้านบาท เปลี่ยนแปลงลดลง 1,314.2 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 139.8 ทั้งนี้ แม้ผลประกอบการของกลุ่มบริษัทจะขาดทุน แต่เนื่องจากมาตรการประหยัดค่าใช้จ่าย การลดเงินเดือนตามความสมัครใจของผู้บริหาร ทำให้ผลประกอบการเฉพาะกิจการของ BAFS มีกำไรสุทธิ 25.9 ล้านบาท
“ในการก้าวสู่ปี 2564 กลุ่มบริษัทพร้อมเดินหน้าพัฒนาธุรกิจตามแผนดำเนินงานอย่างรอบคอบ โดยมุ่งมั่นในการให้บริการธุรกิจพลังงานอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงคุณภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานของหลักบรรษัทภิบาล การบริหารความเสี่ยงตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมกับการบริหารจัดการองค์ความรู้สู่การสร้างนวัตกรรมเป็นพื้นฐานสำคัญ เพื่อเสริมศักยภาพการเติบโตบนเส้นทางธุรกิจควบคู่กับการดูแลผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ด้วยความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงานและความสามารถในการตอบสนองโลกยุคใหม่ บาฟส์จะขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ” นายประกอบเกียรติ กล่าวสรุป