ชาวบ้านค้านสร้างเสาส่งสัญญาณมือถือกลางชุมชน หวั่นกระทบจากคลื่นแม่เหล็ก#คัดค้าน #เสา
ทุกวันนี้แทบจะทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกพื้นที่ในประเทศไทย เรียกได้ว่าเกือบจะสามารถใช้งานมือถือหรือเน็ตมือถือ 3G / 4G กันได้หมดแล้ว (ถ้าไม่ได้บุกป่าฝ่าดง เข้าถ้ำ หรือลอยคออยู่กลางมหาสมุทร) ซึ่งการที่เราสามารถรับสัญญาณมือถือได้จากสถานที่ต่างๆ เนี่ย ก็เป็นเพราะเสาสัญญาณมือถือของแต่ละค่ายนั่นเอง และยิ่งพื้นที่ไหนที่มีเสาสัญญาณมาก มีจุดตั้งเสาที่ครอบคลุมทั่วถึง สัญญาณและความเสถียรในการใช้งานก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าว่าก่อนที่จะมีเสาสัญญาณแต่ละต้นขึ้นมาเนี่ย มันจะต้องผ่านขั้นตอนอะไรมาบ้าง?
1. กำหนดพื้นที่ตั้งเสา และเกณฑ์การเลือกจุดตั้งเสา
แน่นอนว่าก่อนที่จะมีการวางเสาแต่ละต้น ก็ต้องมีการวางแผนกันซะก่อนว่าควรจะเอาเสาสัญญาณแต่ละต้นไปไว้ที่ตำแหน่งไหนถึงจะเหมาะ (ไม่ใช่ว่าเห็นตรงไหนว่างๆ ก็วางเสาได้เลยนะ) ซึ่งก่อนจะวางเสาสัญญาณแต่ละต้นได้ก็ต้องยื่นเอกสารคำขออนุญาตสำนักงาน กสทช. ตามนี้
- หลักฐานการทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณขอติดตั้งเสาสัญญาณ ว่าชุมชนนั้นยินยอมให้ติดตั้งเสาได้
- ผลการประเมินความแรงของสัญญาณจากเสาดังกล่าว ว่าไม่แรงเกินกว่าที่ กสทช. กำหนด
เมื่อเช็คเรียบร้อยแล้วว่าถูกต้องตามข้อบังคับ ก็ต้องหาพื้นที่ที่สัญญาณอ่อน หรือพื้นที่ที่เป็น Landmark ใหม่ๆ มีคนพลุกพล่าน เพื่อที่การวางเสาสัญญาณใหม่ลงไปจะช่วยให้สัญญาณบริเวณนั้นดีกว่าเดิม
2. สำรวจหาพื้นที่เหมาะสม ติดต่อเจ้าของพื้นที่ และตกลงค่าเช่า
เมื่อเจอพื้นที่ที่เหมาะสมในการวางเสาแล้ว ก็ต้องมีการทำสัญญา, ข้อตกลง และเรื่องค่าเช่ากับเจ้าของพื้นที่นั้นให้เรียบร้อย ซึ่งการหาพื้นที่เพื่อติดตั้งเสาสัญญาณนั้น แต่ละค่ายก็จะมีวิธีที่ต่างกันออกไป บางค่ายลงพื้นที่ค้นหาเอง บางค่ายเปิดโอกาสให้ลูกค้าแนะนำพื้นที่สำหรับติดตั้ง ซึ่งอาจมีรางวัลให้ถึง 10,000 บาท หากพื้นที่ที่แนะนำถูกนำมาใช้ติดตั้งเสาสัญญาณจริงๆ โดยพื้นที่ที่เหมาะสมกับการตั้งเสาสัญญาณนั้นจะอยูที่ประมาณ 10 x 10 ม. ขึ้นไป (บนพื้นดิน) ถ้าหากเป็นพื้นที่บนดาดฟ้าตึกจะต้องมีพื้นที่ประมาณ 4 x 8 ม. ขึ้นไป
ส่วนข้อมูลที่หลายๆ คนน่าจะสงสัยกันอยู่บ้างว่าเครือข่ายไปตั้งเสาที่ต่างๆเนี่ย ต้องมีค่าเช่าที่หรือเปล่า ซึ่งคำตอบก็คือ เครือข่ายจะจ่ายค่าเช่าพื้นที่ให้เป็นรายเดือน หรือรายปีก็ว่ากันไปตามแต่ตกลง ถ้าเป็นพื้นที่ในเขตกรุงเทพจะได้ค่าเช่าประมาณเดือนละหมื่นกลางๆ และอาจจะเพิ่มให้ปีละ 3% – 5% ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดที่คนไม่ค่อยพลุกพล่านก็จะได้ค่าเช่ารายเดือนลดหลั่นลงมาที่หลักพันบาท
3. ทำความเข้าใจกับชุมชน
และก่อนที่จะตั้งเสาสัญญาณ ก็ต้องมีการลงพื้นที่เพื่อให้ข้อมูล และสอบถามความคิดเห็นของผู้ที่อยู่ในชุมชน เพราะเรามักจะเห็นอยู่บ่อยๆ ที่ชาวบ้านบางส่วนออกมาต่อต้านการติดตั้งเสาสัญญาณมือถือ เพราะกลัวอันตรายจากคลื่นที่ปล่อยออกมาจากเสาสัญญาณ ซึ่งพวกที่ออกมาต่อต้านนี้มักจะได้รับข้อมูลผิดๆ มาจากแหล่งข่าวที่ไหนซักแห่ง แล้วเอามาพูดต่อๆ กันไป ก็เลยต้องมีทีมงานออกมาอธิบายให้ชุมชนนั้นเข้าใจว่าเสาสัญญาณโทรศัพท์ไม่ได้มีอันตรายอย่างที่ได้ข้อมูลมา
ลองค้นหาดูตาม Google หรือ Twitter ก็จะมีข่าวมาให้ได้เห็นกันเรื่อยๆ
4. ขอใบอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
อีก 1 ขั้นตอนก่อนลงมือสร้างเสาสัญญาณก็คือต้องดำเนินการขอใบอนุญาตในการก่อสร้างเสาสัญญาณจากหน่วยราชการในพื้นที่นั้นซะก่อน จากนั้นก็ยื่นขอใบอนุญาตในการติดตั้งอุปกรณ์โทรคมนาคมและใบอนุญาตใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวจาก กสทช. ก่อนการก่อสร้างและเปิดใช้งานเสาสัญญาณ
5. เริ่มการก่อสร้าง
คัดเลือกบริษัทก่อสร้างและผู้รับเหมาตามกฎระเบียบของแต่ละค่าย พร้อมติดตามงานอย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัยและได้มาตรฐานตามหลักวิศวกรรมของเสาสัญญาณแต่ละแบบ ซึ่งมีทั้งเสาแบบ Guyed Mast Towerที่ใช้ติดตั้งได้ทั้งบนพื้นหรือดาดฟ้าอาคาร แต่ต้องมีลวดสลิงขึงเพื่อความมั่นคง โดยเสาแบบนี้จะนิยมใช้ติดตั้งภายในเขตเมืองเพราะไม่ต้องใช้พื้นที่มากและสามารถติดตั้งบนดาดฟ้าอาคารได้ ส่วนเสาขนาดใหญ่ที่เรามักจะเห็นตามพื้นที่โล่งๆ จะเป็นเสาแบบ Self-Support Tower ซึ่งเป็นเสาแบบ 3 – 4 ขา ไม่มีสลิงขึง เพราะตัวมันเองมีความแข็งแรงทนทานอยู่แล้วเพราะใช้การยึดขาไว้กับพื้น ส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งเสาแต่ละต้นเห็นว่าต่างกันไปนะครับ แต่ก็มีหลักล้านบาทขึ้นทั้งนั้น
เสาสัญญาณแบบ Guyed Mast Tower (ภาพจาก Indiamart)
เสาสัญญาณแบบ Self-Support Tower (ภาพจาก lbsgroup)
6. เปิดใช้งานเสาสัญญาณ
เมื่อเปิดใช้งานเสาสัญญาณแล้ว รอบๆ บริเวณนั้นก็จะสามารถใช้งานสัญญาณมือถือของเครือข่ายนั้นๆ ได้ แต่ตอนช่วงเปิดสัญญาณใหม่แล้วก็อาจจะยังใช้งานได้แบบไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าไหร่นะครับ ต้องจูนเสาปรับแต่งค่าอีกหน่อย แต่ไม่นานเกินรอสัญญาณในการโทรและเล่นเน็ตเต็มเอี้ยด ไม่ขาดๆ หายๆ อีกต่อไป
7. ดูแลและซ่อมบำรุง
ขั้นตอนสุดท้ายหลังจากการก่อสร้างและเปิดใช้งานแล้วก็คือขั้นตอนในการดูแล และซ่อมแซมให้เสาสัญญาณสามารถใช้งานได้เป็นปกติ และมีความปลอดภัยโดยทีมงานที่รับผิดชอบของแต่ละค่าย โดยเมื่อไหร่ที่เสาสัญญาณต้นไหนมีปัญหา ก็จะมีการส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปที่ศูนย์ควบคุม จากนั้นค่อยแยกแยะกันอีกทีว่าปัญหาที่เกิดสามารถแก้ไขได้จากห้องควบคุมรึเปล่า ถ้ายังแก้ไขไม่ได้หรือเสาสัญญาณเกิดการเสียหายทางกายภาพถึงจะส่งทีมช่างเทคนิคออกไปซ่อมแซมกันอีกที
และทั้งหมดนั้นก็คือขั้นตอนกว่าที่เสาสัญญาณโทรศัพท์แต่ละต้นจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อขยายและปรับปรุงสัญญาณในแต่ละพื้นที่นั่นเอง