Print this page

สนข.ปิ๊งไอเดีย ผุด “ชัตเทิลโบ๊ต” ต่อเรือ-ต่อรถไฟฟ้า-ต่อรถเมล์ บรรเทาจราจรลาดพร้าว-รามคำแหง

สนข.เสนอไอเดียเร่งศึกษาผุด “ชัตเทิลโบ๊ต” เดินเรือคลองย่อยเชื่อมคลองใหญ่ ต่อเรือ-ต่อรถไฟฟ้า-ต่อรถเมล์ แบบไร้รอยต่อ “สราวุธ” เผยเตรียมเสนอแนวคิดต่อคณะทำงานฯ แก้จราจร บรรเทาผลกระทบจราจร ถ.ลาดพร้าว และรามคำแหง ช่วงก่อสร้างรถไฟฟ้าสีเหลือง-ชมพู 

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า จากปัญหาการจราจรในถนนรามคำแหงอยู่ระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และถนนลาดพร้าวที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ที่ได้มีการจัดเส้นทางรถ ขสมก.ขึ้นทางด่วนเพื่อเลี่ยงแนวก่อสร้าง

ซึ่งคณะทำงานติดตามผลบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มี พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฯ ได้ติดตามและหาแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง 

ในส่วนของ สนข.ได้มีแนวคิดเพิ่มเติมในการเพิ่มเส้นทางเดินเรือเพื่อเชื่อมการเดินทางจากคลองย่อย ที่เชื่อมกับคลองแสนแสบ และเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้า MRT และ BTS ได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน เช้าและเย็น เพื่อบรรเทาผลกระทบในช่วงที่รถไฟฟ้ายังก่อสร้างไม่เสร็จ

โดย สนข.จะศึกษาลำคลองย่านลาดพร้าว รามคำแหง มีนบุรี และบางกะปิ ที่มีศักยภาพเหมาะสม และมีชุมชน หมู่บ้านริมคลอง เพื่อจัดทำเส้นทางเดินเรือขนส่งประชาชนในย่านลาดพร้าว รามคำแหง มีนบุรี และบางกะปิ คาดว่าจะใช้เวลาศึกษา 1 เดือน จากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะทำงานติดตามผลบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หากสามารถดำเนินการได้จะทดลองเดินเรือก่อน 



ทั้งนี้ ต้องหารือกับกรมเจ้าท่า (จท.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการกำหนดจุดท่าเรือรับส่งผู้โดยสาร จัดหาของเรือที่มีความปลอดภัย และอาจจะเป็นการให้บริการฟรีในช่วงแรกเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า หากได้รับการตอบรับจะพัฒนาส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้เรือโดยสารเดินทางต่อไป 



“ช่วงแรกอาจจะเป็นเรื่องของความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ใช้เรือที่อยู่ในการช่วยเหลือน้ำท่วมของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มาให้บริการหรือใช้เรือท้องแบน หรือใช้เรือทหารมาช่วย เป็นต้น เพราะเป็นการขนประชาชนที่อาศัยตามหมู่บ้านในคลองย่อยมาส่งยังท่าเรือ เพื่อต่อเรือขนาดใหญ่ รูปแบบจะเป็นเหมือนชัตเทิลโบ๊ต ซึ่งจะส่งเสริมการเดินทางที่ไร้รอยต่อได้เป็นอย่างดี“

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Wednesday, 17 October 2018 10:26
ดนัทธ์ โภคินันท์

Latest from ดนัทธ์ โภคินันท์

Related items

X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM