Print this page
AEC

เจรจา RCEP จบไม่ลง 4 ปี เปิดเสรีสินค้า-บริการไร้ข้อสรุป

ในปี 2013 (2556) ประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจา 6 ประเทศ (ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์) ได้ออก “ปฏิญญาร่วมว่าด้วยการประกาศการเริ่มเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาค (RCEP)” และตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าจะเจรจาให้แล้วเสร็จในปี 2558 แต่ก็ต้องเลื่อนมาเป็นปี 2560 และมีสัญญาณว่าจะเลื่อนอีก 1 ปี

ด้วยเหตุ RCEP เป็นความตกลงในลักษณะ comprehensive agreement หมายถึงเจรจาพร้อมกันหมดทั้งสินค้า บริการ และการลงทุน ถือเป็น “การเปิดเสรีทั้งกว้างและลึก” ครอบคลุมทั้ง 16 ประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะระดับความสัมพันธ์ในการเปิดเสรีของบรรดาสมาชิกแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน เช่น อาเซียน มีการเจรจาแบบ ASEAN+1 กับทั้ง 6 ประเทศ แต่ระหว่างคู่ 6 ประเทศนั้นไม่เคยทำเอฟทีเอกันมาก่อน

จะเห็นว่าในการประชุมระดับหัวหน้าคณะทำงาน RCEP ครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 23-28 กรกฎาคมที่ผ่านมายังไม่สรุป เกี่ยวกับ “ข้อเสนอการเปิดตลาดสินค้า และรูปแบบข้อสงวนในการเปิดเสรีบริการ” ซึ่งเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของ RCEP ทั้งฉบับที่มี 11 ประเด็น ดังนั้นจึงเหลือการประชุมระดับหัวหน้าคณะทำงานระหว่างวันที่ 23-28 ตุลาคมนี้ ที่ประเทศเกาหลี อีกเพียงรอบเดียวก่อนที่จะสรุปเสนอที่ประชุมระดับสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในวันที่ 10-14 พฤศจิกายนนี้ แต่โอกาสที่จะ “ปิดการเจรจาทั้งฉบับ” ให้ทันภายในปีนี้แทบเป็นไปไม่ได้เลย
 

อย่างไรก็ตาม หาก 16 ประเทศ “ยอมลดระดับมาตรฐาน” เพียงเพื่อให้การเจรจา RCEP บรรลุเป้าหมายตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด อาจทำให้ความตกลง RCEP ไม่ได้ประโยชน์ ดูด้อยกว่าความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) จึงทำให้สมาชิก 16 ประเทศอยู่ในภาวะกระอักกระอ่วนว่าจะผลักดันให้ RCEP จบ หรือจะให้ RCEP เป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูง

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เป้าหมายของผู้นำอาเซียนยังคงต้องการเดินหน้าผลักดันให้ RCEP เกิดขึ้น เบื้องต้นเป้าหมายต้องการลดภาษี 0% ในสินค้า 92% ของรายการสินค้าที่ค้าขายระหว่างกันภายใน 15 ปี แต่ปัจจุบันประเทศคู่เจรจายังไม่สามารถปรับลดภาษีในสินค้า 92% ได้ ปรับลดได้เพียง 90% เท่านั้น เนื่องจากยังมีประเทศคู่เจรจาที่ไม่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ร่วมกัน เช่น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย เป็นต้น

ส่วนตัว เชื่อว่าจะเห็นความชัดเจนของกรอบเจรจาดังกล่าวได้อย่างแน่นอน ในการประชุม ASEAN Summit โดยสมาชิกจะพยายามหาข้อยุติร่วมกันเรื่องการลดภาษีสินค้าก่อน ส่วนการค้าบริการอาจต้องหารือกันให้ชัดเจนอีกครั้ง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงพลังงาน โดย พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ลงพื้นที่ดูความคืบหน้าของสถานประกอบการต่างๆ ถือได้ว่ามีความคืบหน้าในการเดินหน้าโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ในกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกและโฟมสำหรับบรรจุอาหาร โดยบริษัท พี.พี. แพคเกจจิ้ง จำกัด จ.นครปฐม ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว สามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้เท่ากับ 464,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี (KWh) หรือเทียบเท่า 0.04 พันตันน้ำมันดิบ เทียบเท่าต่อปี (ktoe)คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 1.78 ล้านบาทต่อปี และยังสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ 0.0003 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

นายอรินทร์ จิรา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ประเทศไทย กล่าวว่า เอกชนมองว่าการเจรจา RCEP มีความสำคัญ แต่ยังติดขัดในส่วนของบางประเทศที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งสมาชิกพยายามจะผลักดันให้การเจรจานี้บรรลุเป้าหมายให้ได้ในปี 2561 แต่ไม่ได้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก เพราะได้มีการประเมินสถานการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Thursday, 29 November 2018 12:38
ธัญชนก สหธนกิจ

Author : เกาะติดข่าวญี่ปุ่น

Latest from ธัญชนก สหธนกิจ

Related items

X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM