Login to your account

Username *
Password *
Remember Me

Create an account

Fields marked with an asterisk (*) are required.
Name *
Username *
Password *
Verify password *
Email *
Verify email *
Captcha *
Reload Captcha

“มองเก่าให้ใหม่” สร้างสรรค์ 360 องศา อนาคตแห่งการออกแบบมาพร้อมการอนุรักษ์

“มองเก่าให้ใหม่” แนวทางสร้างสรรค์ในมุม 360 องศา อนาคตแห่งการออกแบบมาพร้อมการอนุรักษ์ ในงานสถาปนิก64

เมื่อเราพูดถึงเทรนด์การออกแบบสถาปัตยกรรม หนึ่งในรูปแบบที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในปัจจุบัน นอกจากการออกแบบสไตล์โมเดิร์นหรือมินิมอลิสนั้น อีกกระแสหนึ่งที่ได้มีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในแวดวงสถาปนิกคือ การออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่ออนุรักษ์สิ่งที่มีคุณค่าในชุมชนซึ่งมีทั้งอาคาร สิ่งก่อสร้าง และวิถีชีวิต ซึ่งภายในงานสถาปนิก’64 งานแสดงสถาปัตยกรรมและวัสดุก่อสร้างใหญ่ที่สุดในอาเซียน ครั้งที่ 34 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-27 มิถุนายน 2564 ได้นำเสนอแนวคิด “มองเก่าให้ใหม่: Refocus Heritage” สะท้อนเรื่องราวมรดกสถาปัตยกรรม ร่วมกันอนุรักษ์ ปรับใช้ และต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานให้คงอยู่กับคนรุ่นใหม่ต่อไปได้ยาวนานและทรงคุณค่า

"ชนะ สัมพลัง" นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวอธิบายหัวข้อการก่อสร้างและการอนุรักษ์ สำหรับวงการสถาปัตยกรรมมีนัยน่าสนใจในวงกว้างมากขึ้น และจะมีการแชร์ข้อมูลซึ่งกันและกันระหว่างประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในอีกหลากหลายมิติ ส่งผลกระทบต่องานดีไซน์ถูกนำมาแลกเปลี่ยนรายละเอียดอย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น และมีผลต่อแนวการออกแบบในปัจจุบัน ให้มีการพัฒนา หรือมีทิศทางการสร้างสรรค์งานในแบบก้าวกระโดด

เทคโนโลยีคือสิ่งนำพาสถาปนิกไปสู่การเปลี่ยนแปลงในช่วงปี’64 นี้ “ชนะ” ยกตัวอย่างเมื่ออีกซีกโลกสามารถสร้างผลงานชิ้นใหม่ได้ ในอีกไม่กี่นาทีงานชิ้นนั้นก็ถูกเผยแพร่มาถึงประเทศไทย โดยในส่วนของงานอนุรักษ์ของเก่า และการก่อสร้างของใหม่ จะได้เห็นชัดว่ากำลังกลายเป็นเรื่องราวเดียวกัน ทั้งยังจะเป็นการเปิดมิติมุมมองโลกใหม่ให้กว้างขึ้น ตึกเก่ามีคุณค่าในอดีต จะถูกนำมาพัฒนาให้มีชีวิตชีวาเพื่อใช้คุณประโยชน์ได้ในอนาคต

“ผมขอยกตัวอย่างโรงภาพยนตร์สกาล่า คงเป็นแรงบันดาลใจสำหรับนักออกแบบรุ่นใหม่ งานออกแบบยุคนี้จึงไม่ใช่เพียงก่อสร้างอาคารขึ้นมาใหม่ไปเสียทั้งหมด แต่เป็นการสร้างเพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันของมรดกวัฒนธรรมต่างๆ และมีความสำคัญยิ่งขึ้นโดยเฉพาะด้านการใช้สอย

อาคารเก่าแก่อีกแห่งในกรุงเทพฯ ศุลกสถานริมแม่น้ำเจ้าพระยาถ้ารีโนเวทโดยเพิ่มประโยชน์ใช้สอยเพื่อให้อาคารคงอยู่ นอกจากคุณค่าก็จะสร้างความน่าตื่นตาให้กับอาคารเก่าแก่ ซึ่งเป็นทิศทางการออกแบบใหม่ในปัจจุบัน และต่อเนื่องไปถึงการรองรับการใช้ชีวิตสำหรับอนาคต

ผมเข้ามาทำงานนายกสมาคมสถาปนิกสยาม ได้เห็นอาคารเก่าทรงคุณค่าด้วยการใช้งานหลากมิติ สำนักงานป่าไม้ จ.แพร่ มรดกจากบริษัทค้าไม้จากเดนมาร์ก ในอดีตเป็นอาคารสถานไม้สักสร้างใน ปี 2478 เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของกรมป่าไม้ หรือเป็นโรงเรียนสร้างคนทำงานป่า และในอนาคตอาคารนี้คือศูนย์รวมพลได้เช่นเดียวกัน ไม่จำกัดแค่ข้าราชการป่าไม้ แต่กิจกรรมเปลี่ยนไปเพื่อการอนุรักษ์เพื่อการเรียนรู้ป่าริมแม่น้ำของคนทั่วไปได้อีกด้วย”

วิธีการอนุรักษ์จึงถูกนำมาตีความในหลากหลายมิติ ชนะ กล่าวอธิบายในเรื่องของการรักษาของเก่านอกจากคงอดีตไว้แล้ว การนำตึกเก่าแก่หลายๆ แห่ง ซึ่งบางแห่งจัดเป็นโบราณสถานนำมาก่อสร้างใหม่เพื่อใช้ได้ในอนาคต จึงนับเป็นการสร้างสรรค์ทิศทางการออกแบบใหม่ที่น่าสนุกสำหรับนักออกแบบอย่างมาก

“การอนุรักษ์ในวันนี้คือการสร้างเพื่อให้ใช้สอยต่อไปได้อีก งานอนุรักษ์ไม่เป็นเพียงจบในมุมการสตาฟคงของเก่าไว้ให้แค่มองได้เพียงความชื่นใจ หรือรีโนเวทแล้วทิ้งเขาไว้เหงาๆ ไร้ชีวิตชีวา แต่สำหรับผมและนักออกแบบยุคนี้อีกหลายๆ ท่าน ขอมองในมุมสร้างประโยชน์เพื่อใช้สอยให้ได้มากกว่าที่เคยเป็นในอดีต สอดคล้องกับวิธีการออกแบบในปัจจุบันนี้ก็เพื่อสำหรับรองรับชีวิตในอนาคต และนี่คือมิติที่ขยายกว้างขึ้น โดยมองว่าทุกๆ วัฒนธรรมดั้งเดิมไม่ว่าจะเก่าแก่อย่างไร คุณค่าความงามเหล่านั้นก็ย่อมอยู่ร่วมกับโลกอนาคตได้

งานออกแบบจึงไปไกลกว่าคิดสร้างวิธีใช้ ไม่หยุดแค่การคิดดีไซน์สร้างอาคาร หรือครีเอทการตกแต่งภายในให้สวยงามเพียงเท่านั้นนะครับ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่แตกต่างจากการสร้างกล่องขึ้นมา แต่งานที่มีคุณภาพเราต้องคิดสร้างกล่องใบนั้นให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาให้ได้อีกด้วย แล้วถ้าเราสามารถก้าวไป ณ จุดนั้นได้ ก็จะกลายเป็นวิธีการสร้างเศรษฐกิจให้กับเมืองอนาคตได้ด้วยครับ”

ภารกิจกู้ชีพมรดกสถาปัตยกรรมไม่ให้สูญสลายไปตามกาลเวลา จึงเป็นสิ่งที่ถูกนำมาเป็นประเด็นสนทนาต่อยอดในงานสถาปนิก’64 ชนะ กล่าวว่าเรื่องเทคโนโลยีคือสิ่งสำคัญอีกเรื่องที่สถาปนิกจะได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน

“การชำระประวัติศาสตร์วันนี้มีการนำอินเตอร์เน็ตมาใช้ได้อย่างมีประโยชน์มหาศาลมาก เราได้เห็นอาคารโรงงานกระดาษอายุเกือบร้อยปีใน จ.กาญจนบุรี มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเดียวกันกับอาคารเก่าร่วมสมัยเดียวกันในเยอรมนี และเราสามารถใช้ข้อมูลที่มีร่วมกันของอาคารเก่าแก่เหล่านี้มาใช้ในการอนุรักษ์ได้ โดยดึงเอาเสน่ห์ของจิตวิญญาณเก่ากลับมา ซึ่งเป็นการทำงานอย่างมีพื้นฐานข้อมูล โดยการสร้างโมเดลจำลองด้วยคอมพิวเตอร์สร้างภาพเมื่อราวร้อยกว่าปีที่แล้วได้แจ่มชัดถูกต้อง และตรงประเด็นขึ้นด้วยก่อให้เกิดพื้นที่ใช้สอยใหม่ในอนาคต และให้คนในชุมชนผู้เฒ่าผู้แก่ให้ข้อมูลเดิม ไปจนสร้างงานให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วม ซึ่งล้วนส่งผลให้การก่อสร้างและการอนุรักษ์เติบโตและมีชีวิตร่วมกันได้อย่างยั่งยืน”

ชนะ กล่าวว่าการรับหน้าที่นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้ถกเถียงพูดคุยกันระหว่างคนทำงานกลุ่มสถาปนิกร่วมอาชีพด้วยกัน จึงรู้ว่างานอนุรักษ์คือวิธีการทำงานละเอียดเกินกว่าตาเห็น และกลายเป็นความสุนทรีย์ในการสร้างสรรค์ผลงาน

“เพื่อนของผม อมตะ หลูไพบูลย์ ในวงการล้วนยอมรับฝีมือการสร้างผลงานของเขาคือระดับแนวหน้า คุณอมตะได้สร้างงานขึ้นมาจากสถานีรถไฟศาลาแดง ซึ่งเป็นสถานีแห่งแรกในเมืองไทยก่อนที่จะไปถึงสถานีหัวลำโพง เขาสร้างจากเรื่องเล่าที่ไม่มีคนรุ่นนี้ได้เคยเห็นหน้าตาสถานีศาลาแดงหรอกนะครับ เสิร์ชข้อมูลไปในอินเตอร์เน็ตก็ไม่มีภาพสถานีนี้เลยแถมภาพในยุคเก่าก็เป็นขาวดำไปอีก การใช้จินตนาการของนักออกแบบรุ่นปัจจุบันโดยคุณอมตะดึงเอารูปทรงหลังคาสถานีรถไฟแบบเก่ามาเป็นจุดสำคัญของตัวอาคาร สามารถสร้างคอมมูนิตี้มอลล์ใจกลางเมือง The Commons ศาลาแดง ขึ้นมาให้กลายเป็นแอเรียสุดชิคได้ ในทำเลใกล้สถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง

 

ผมมองว่านี่คือการอนุรักษ์เชิงความรู้สึก โดยดึงให้คุณค่าในอดีตให้เกิดขึ้นมาได้ในย่านนั้น ซึ่งวันนี้มีกลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่เลือกหยิบงานตึกเก่ามาสร้างสรรค์ใหม่อีกหลายๆ กลุ่มเลยนะครับ เช่น กลุ่ม Onion ก็คือกลุ่มสถาปนิกที่ออกแบบปรับปรุงชุบชีวิตตึกแถวเก่าจากอดีตเป็นโกดังเก็บของขนาด 4 คูหาในย่านท่าเตียน ให้กลายเป็น ‘ศาลารัตนโกสินทร์’ บูทีคโฮเต็ลซึ่งโลเคชั่นวิวดีมาก อยู่ตรงข้ามวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีฉากหลังงดงามเป็นวัดอรุณราชวราราม โดยมีพื้นฐานการออกแบบทั้งโครงสร้างและการตกแต่งภายในโดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงจากอดีตสู่ปัจจุบันอีกด้วย เป็นการออกแบบความเก่าที่มีคำจำกัดความว่า ‘Rustic Modern’ สร้างอาคารโดยรวมให้กลมกลืนไปกับโครงสร้าง ทำเลที่ตั้ง และชุมชนแวดล้อมโดยรอบ ซึ่งในกรุงเทพฯ มีตึกเก่าให้สถาปนิกสร้างสรรค์ผลงานพื้นที่ใหม่อีกมากมายนะครับ”

ชนะ กล่าวทิ้งท้ายโดยฝากชวนมาแลกเปลี่ยนความรู้กันในงานสถาปนิก’64 ซึ่งจะสร้างสุนทรียภาพได้ดีทั้งในกลุ่มคนร่วมงานประชาชนทั่วไป หรือกลุ่มสถาปนิกร่วมอาชีพสามารถเก็บเกี่ยวความรู้ประวัติศาสตร์วันวาน เพื่อนำมาสร้างสรรค์ผลิตผลงานชิ้นใหม่ประดับวงการได้ให้ยืนยาวต่อไป



รับข่าวสารก่อนใคร ฉับใวถึงมือคุณ
เพิ่มเราเป็นเพื่อน แอดไลน์ @610nusdc
เพิ่มเพื่อน

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Saturday, 13 March 2021 15:18
บัญชา สมพงษ์สวรรค์

Author : เกาะติดเรื่องราวต่างประเทศ, การท่องเที่ยวต่างแดน, ข่าวในญี่ปุ่น, ข่าวในเกาหลี, สายการบิน, ศิลปะวัฒนธรรม, Likestyle, ไอเดียใหม่, เทคโนโลยีและสินค้าใหม่ๆ, ต่างชาติมองไทย ฯลฯ

Leave a comment

Make sure you enter all the required information, indicated by an asterisk (*). HTML code is not allowed.


  
X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM