Login to your account

Username *
Password *
Remember Me

Create an account

Fields marked with an asterisk (*) are required.
Name *
Username *
Password *
Verify password *
Email *
Verify email *
Captcha *
Reload Captcha

“ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” กับศาสตร์พระราชา มายาคติใน “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และหลักการทรงงานที่เรียนไม่รู้จบ

บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี ได้จัดงานเสวนาพิเศษในหัวข้อ “SCG ธุรกิจพอเพียง”โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการ เอสซีจี และเลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ ศาสตร์พระราชา “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ในหัวข้อ“หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ในการพัฒนาประเทศ”

“รู้สึกไปที่ไหนคนก็จะคาดหวังมากว่าผมจะเป็นคนอธิบายได้ทะลุปรุโปร่ง แต่เอาจริงๆ แล้วเรื่องที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ(รัชกาลที่ 9) พระราชทานมานั้นมากมายก่ายกอง ซับซ้อน บางแนวความคิดก็ยากที่จะทำให้ทะลุปรุโปร่งไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ได้มีโอกาส โชคบันดาลให้ไปถวายงานพระองค์ท่านเป็นระยะเวลาครึ่งหนึ่งที่ทรงงานมาพอดี คือ จาก 70 ปี ผมถวายงาน 35 ปี

วันที่ไปเริ่มถวายงานด้วยความกังวลว่าจะไม่สามารถวายงานได้นั้น ไม่ทราบว่ามีอะไรดลใจให้เข้าไปกราบบังคมทูลตรงๆ ว่าวิตกมากที่รัฐบาลมอบหน้าที่ ผมไม่ได้อยู่ในวังนะครับ ไม่ได้อยู่ที่ไหน แต่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้รับมอบจากนายกรัฐมนตรีในยุคนั้นไปถวายงาน

ผมค่อนข้างกังวลและกราบบังคมทูลไป พระองค์ท่านทรงถามว่ากังวลเรื่องอะไร ตอบว่ากังวลจะถวายงานไม่ได้ ไม่สำเร็จ พระองค์ทรงถามว่าทำไม ตอบไปว่าพื้นฐานการศึกษาไม่มีเลย ไม่มีที่จะเข้าใจพระองค์ท่าน เพราะท่านทรงงานเกี่ยวกับเรื่องดิน เรื่องน้ำ สิ่งแวดล้อมอะไร ผมจบรัฐศาสตร์การทูต ไม่ได้เรียนมาสักอย่าง

แต่วันนั้นผมได้รู้ว่า ผมโชคดีที่สุด ในขณะที่คนอื่นอย่างกรมชลประทาน เขาก็เอาความชำนาญการมาถวายงาน กรมป่าไม้ก็ไปถวายเรื่องป่าไม้ วนศาสตร์ ล้วนเอาความชำนาญของตัวเองไป ท่านรับสั่งไม่เป็นไร คนเราเรียนกันได้ ฉันสอนเอง ไม่รู้เลยว่าวันนั้นได้รับโชคอย่างมหาศาล แทนที่จะเป็นข้าราชบริพารตามถวายงาน กลับกลายเป็นนักเรียน เป็นนักเรียนที่ยาวนานที่สุดเลย หลักสูตร 35 ปี เผอิญท่านทรงหยุดสอนก่อน ถ้ายังคงอยู่ ผมคงได้รับต่อไปไม่รู้จบ แล้ววิชาของพระองค์ใครจะบอกว่าทะลุปรุโปร่ง ศาสตร์พระราชา รู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ ขอทีว่าเท่าที่เราเข้าใจมันแค่กระพี้เดียวที่ทรงคิดทรงทำและพระราชทานมาให้เราเท่านั้นเอง

 

ย้อนรอย “เศรษฐกิจพอเพียง” – ทางออกจากวิกฤติ

เศรษฐกิจพอเพียง ต้องคำนึงเร็วๆ ก่อนว่ารับสั่งในปีอะไร ท่านรับสั่งในปี 2541 สืบเนื่องมาจากอะไร เราก็ต้องตอบว่าเกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2540 ผมโชคดีอีกเผอิญไปรู้เรื่อง เพราะในปี 2537 ในขณะที่ถวายงานอยู่ รัฐบาลบังคับให้กลับไปเป็นเลขาธิการสภาพัฒน์ ไปตอนประเทศชาติกำลังเข้าโรงพยาบาลพอดี แต่ไม่รู้ตัวนะ หลงระเริง

ในปี 2537 ไปนั่งก็จำยอม รัฐบาลบอกว่าต้องไปนั่งให้ได้ ผมบอกว่าผมทิ้งพระเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 9)ไปได้อย่างไร เขาเลยให้รักษาการเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) อีกตำแหน่งเป็น C22 C11 2 ตำแหน่งรวมกัน ใหญ่โตมโหฬารเลย แก่หง่อมเลย ต้องแบกงานไว้ 2 ตำแหน่ง ในปี 2537 เกิดอะไรขึ้น ตามหลักพระเจ้าอยู่หัวฯ รับสั่งว่า เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ต้องเข้าใจก่อนว่าเหตุมันเกิดจากอะไร ผลของมัน หนทางแก้ไขในที่สุด

ปี 2537 เราเริ่มป่วย(ประเทศไทย)แต่ไม่รู้สึกตัว เราลืมตัว อัตราการเติบโตหรือจีดีพีสูงสุดอย่างที่เราไม่เคยได้รับมาก่อน 11.2% ผมจำได้ว่าตอนไปนั่ง ลูกน้องเตือนว่า ท่านเลขาฯ ครับ ถึงช่วงที่จะต้องวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540-2544) แล้ว รู้แบบนี้ไม่ไปดีกว่า เพราะเลขาฯ สยองขวัญกับแผนพัฒนาฯ ที่สุด เป็นงานหนักมาก สิ่งที่เราต้องทำก่อนเพื่อนคือประเมินของเก่าที่ผ่านมาก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น

เราพบว่าเรารวยอย่างที่เราไม่เคยรวยมาก่อน ปีถัดไป 2538 ไม่หยุด ขึ้นไป 11.4% และปี 2539 ก่อนตาย ยังไม่หยุดอีก คล้ายวิกฤติเศรษฐกิจในโลกมันล่อเราก่อน มันล่อใจเราก่อนเหมือนกันหมด ผมไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ ไม่เคยเรียนมาสักนิดเดียว เพียงแต่แปลกใจว่าเวลาเป็นโรคภัยไข้เจ็บจะค่อยๆ ทรุดแล้วดับสูญไป แต่อันนี้มันล่อก่อน ทุกแห่ง จะไทย สหรัฐอเมริกา กรีซ มันต้องให้ขึ้นก่อน แต่พอเราลืมตัวปุ๊บ ขาดใจตาย

บางประเทศกู้กลับมาไม่ทัน เผอิญของเรายังกู้กลับมาทัน เราหารู้ไม่ว่าท่ามกลาง 11.2% ดูตัวเลขลึกๆ ไปอาการของโรคมันเกิดขึ้นแล้ว คล้ายเป็นมะเร็งแต่ไม่รู้ตัว บัญชีเดินสะพัดขาดดุลอย่างร้ายกาจ แล้วเราเองก่อนหน้านั้นวันดีคืนดีลุกขึ้นมาอยากเป็น NICS วันดีคืนดีบอกไม่อยากเป็นคนแล้วจะเป็นเสือตัวที่ 5 แล้วเราก็ทำแบบนั้นจริงๆ ลืมตัวไปหมด เสร็จแล้วอะไรเกิดขึ้น คนรวยตอนนั้นใช้เงินเป็นเบี้ยเลย เงินทองเดินสะพัดอย่างมาก แต่จริงๆ หนี้สินกำลังสะสมพอกหางหมูมาตามลำดับ เราใช้เงินเกินตัว

ผลสุดท้าย ตัวที่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจคือการส่งออก เวลาเราเดินเข้าไปเป็นเสือ เราเดินเข้าไปในอุตสาหกรรมบนความไม่พร้อมของเรา เงินต้องกู้ เทคโนโลยีต้องซื้อเข้ามา และคนต้องพึ่งพาเขาอีก ไปแถวรังสิตบริษัทฝรั่งเติมเลย เจ้าของไม่ฝรั่งก็ญี่ปุ่น แล้วเราเอาอะไรไปลงทุน ดินน้ำลมไฟ ทรัพยากรธรรมชาติ และคนอีก แต่เป็นคนระดับไม่มีทักษะ พอผลิตอะไรขึ้นมา ตลาดของเราขายได้หรือไม่ ขายได้ก็เล็กน้อย ที่เหลือขึ้นอยู่กับการส่งออกไปหมด ตัวติดลบมหาศาลเลย

ลองสังเกต แม้กระทั่งทุกวันนี้ พอส่งออกดีเศรษฐกิจก็ดี พอส่งออกตกล้มเลย แล้วอย่าลืมว่าลูกค้าทั่วโลกสุขสบายหรือ ตลาดมีหรือ คนร่ำรวยหรือ เวลานี้กำลังจนกันทั่วโลก วิกฤติไม่ใช่แค่เศรษฐกิจ การเมืองก็เกิดวิกฤติ สังคมไม่พูด เละเทะไปหมดทั้งโลกเลย ไม่ใช่แค่บ้านเรา บ้านเราเป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งในโลกนี้เท่านั้น

ถอยกลับไปดูภาพรวม นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า ตามที่สหประชาชาติบอกยั่งยืน โลกใบนี้แบกคนได้แค่ 1,500 ล้านคนเท่านั้น ให้ยั่งยืนถึงลูกถึงหลานตลอดไป วันนี้มี 7,400 ล้านคน เอาตัวอย่างใกล้ตัวมา สมัยผมเด็กๆ ประชากรของประเทศไทยมีทั้งหมด 18 ล้านคน ยังยืนอยู่ตรงนี้ไม่ตายเลย ตอนนี้ 67 ล้านคน 5 เท่า ถามว่าแผ่นดินไทยใหญ่ขึ้นหรือไม่ ผมว่ามันเล็กลง ถูกใช้ถูกทำลายถูกบริโภค 7,400 ล้านคน ถามว่าโลกมันโตขึ้นหรือไม่ เท่าเดิมแถมลดน้อยลงไปอีก ถลุงทำลาย ยอมรับหรือไม่ว่าระบบที่นำโลกอยู่คือบริโภคนิยม ไปดูจีนวันนี้ รัสเซียวันนี้

เพราะฉะนั้น ความขาดแคลนกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ประชากรกำลังล้นโลกอยู่ สหประชาชาติประกาศว่าอีก 30 ปีข้างหน้าจะไปถึง 9,000 ล้านคน แค่นี้ก็มีปัญหาแล้ว 9,000 ล้านคนจะทำอย่างไร นักวิทยาศาสตร์คำนวณบอกว่าสงครามแย่งพลังงานจบแล้ว จบไม่มีเหตุผลอะไรนอกจากไม่มีพลังงานให้แย่งกันแล้ว ไม่ต้องรบราฆ่าฟันแล้ว เวลาเข้าไปรบราก็บอกว่าในนามของประชาธิปไตย มันฟังแล้วเท่ดี อิสรภาพ สิทธิ เสรีภาพ แต่ภาพความเป็นจริงคือทศวรรษหน้าความหนักหนายิ่งกว่าน้ำมันอีก สงครามแย่งน้ำ เพราะว่าน้ำที่ดูไม่สำคัญ จริงๆ น้ำเป็นต้นตอของทั้งหมดทุกอย่าง อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม น้ำทั้งนั้น กลับไปดูจานอาหาร ถ้าไม่มีน้ำจะมีหรือไม่ ไม่มีน้ำปลูกข้าวหรือไม่ ไม่มีน้ำปลูกผักหญ้าอะไรได้หรือไม่ ไม่มีน้ำจะเลี้ยงสัตว์ให้เรากินได้หรือไม่ ไม่มีน้ำจะมีเสื้อผ้าใส่หรือไม่

บ้านเราน้ำเป็นอย่างไร บ่นว่าแล้ง วันนี้ท่วมอยู่ บางแห่งยังท่วมอยู่ เดี๋ยวอีก 3 อาทิตย์ข้างหน้าโวยวายว่าแล้งอีก จะแล้งได้อย่างไร 3 อาทิตย์ที่แล้วยังน้ำท่วมอยู่ เพราะว่าเราไม่ค่อยนึกถึงวันข้างหน้า เวลาผม เผอิญโชคดีที่ได้พระเจ้าอยู่หัวสอน ผมไม่ได้เรียนชลประทานมา แต่เปรียบเทียบง่ายๆ น้ำเหมือนเงินเดือน ออกเดือนละหนแต่ต้องใช้ 29 วัน น้ำมันก็มาปีละ 3 เดือน แต่ต้องใช้ไปอีก 9 เดือน ทำอย่างไรให้ 3 เดือนที่ตกลงมามากจนท่วมสามารถเก็บไว้เพื่อใช้ต่ออีก 9 เดือน มีแค่นี้ไม่ต้องเปิดตำราเลย ถ้าทำแค่นี้บ้านเมืองเรารอด แต่ในไทย ตกมา 100 หยด เก็บได้ 8 หยดเท่านั้น

สรุป ประเด็นที่ 2 คือ เราถลุงโลกต่อไปไม่ได้แล้ว ความขาดแคลนของโลก วันนี้กระแสที่เกิดขึ้น สหประชาติพูดเรื่องความยั่งยืน เราเจอคำว่า green ตอนนี้ไม่ได้แล้ว จะมาคิดแต่กำไรอย่างเดียวไม่คิดถึงสิ่งแวดล้อมไม่ได้แล้ว เพราะทุกอย่างในชีวิต ทุกลมหายใจ เราล้วนถลุงทรัพยากรธรรมชาติมาทั้งนั้น ถ้าเราทำแบบไม่คำนึงถึงความคงอยู่ ผมคิดว่าโลกเราจะอายุสั้นลงอีกเยอะเลย แล้วอย่าลืมว่าชีวิตเราอยู่แค่ตรงนี้ มันยังมีคนรอรับช่วงเราต่อไป อยู่กับลูกหลานเราต่อไป อันนั้นคือความหมายของคำว่ายั่งยืน คือใช้ไม่รู้จบ

ธรรม 3 ประการ – “ประมาณตน เหตุผล ไม่ประมาท”

พอเข้าใจสาเหตุแบบนี้แล้ว จากการลืมตัว การใช้จ่ายแบบเกินตัว เกินขีดความสามารถ ผลสุดท้ายก็ล้มลง ฟองสบู่ก็เกิดขึ้น เหมือนกันหมดทุกแห่ง เรากลับมาที่ทางออก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ(รัชกาลที่ 9) พระราชทานทางเลือกคือเศรษฐกิจพอเพียง พระองค์พระราชทานคือให้พิจารณาขอให้ใช้กลไกของกระบวนการความคิดได้หรือไม่ พระองค์พระราชทานธรรมะ ธรรมะคือดีและถูกต้องด้วย ทำไมพูดแบบนั้น เพราะมันไม่ใช่เรื่องปลูกผักอย่างเดียว แล้วส่วนมากพอพูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เห็นควายมาทันที ผมไปบรรยายที่ไหนต้องมีถั่วฝักยาววางที่โต๊ะ เอามะเขือ เอาอ้อยมา เอาควายมาผูกอีกตัวเยี่ยมเลย บางคนไปตั้งว่าเป็นอาจารย์ ศาสตร์พระราชา ทำตัวจน ไม่ได้จนแบบนั้นหรอก แต่ใส่เสื้อขาก๊วย เสื้อม่อฮ่อม คาดผ้าขาวม้า ลากรองเท้าแตะ เป็นศาสตร์พระราชา สรุปพระเจ้าอยู่หัวสอนให้จนหรือ

ผมขอทีว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ มันคือหลักคิดธรรมะ คือกระบวนการความคิด จะยากดีมีจนจะทำอุตสาหกรรม ขายของ จะเป็นอาชีพอะไร เกษียณแล้วแบบผม ใช้ได้ทั้งนั้น ถามว่ากระบวนการความคิด คิดอย่างไร ปกติสิ่งที่ดึงดูดเราคือกิเลส ความอยาก เป็นแบบนี้มา 2559 ปีแล้ว ต้องได้กำไร ต้องได้ประโยชน์ ต้องสะสม ต้องได้บริโภค วันนี้มันไม่มีให้แล้ว ถ้าแย่งชิงกันอีก มันเกิดการปะทะขัดแย้งกันอีก และวันนี้มันเกิดขึ้นแล้ว สงครามทั้งนั้นวันนี้ เปิดโทรทัศน์ดู ตรงนี้มันมีสัญญาณบอกเหตุมาแล้ว

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ(รัชกาลที่9) รับสั่งว่า ต่อไปนี้จะทำอะไร แม้จะอุตสาหกรรม กระบวนความคิดให้ผ่านหลัก 3 ประการนี้ได้หรือไม่ คนอื่นบอก 3 ห่วง 3 เงื่อน เป็นธรรมะ 3 ประการ ประการแรก ให้ประมาณตน ถามหน่อยว่าแต่ละคนเหมือนกันหรือไม่ ในคำที่ตามมาใช้เส้นทางสายกลาง แต่กลางของคุณ กลางของผม มันอยู่ที่เดียวกันหรือไม่ ที่บางคนพยายามบอกว่าต้องยากจนเหมือนกันหมด เส้นทางสายกลางเหมือนกัน ทำกิจกรรมเหมือนกัน อันนั้นไม่ใช่ ขอปฏิเสธ แต่ละคนต้องพยายามหาเส้นทางสายกลางหรือความพอดีของแต่ละคน เพราะฉะนั้น ถึงใช้คำว่าพอประมาณ ประมาณแก่ตน

การหาต้องทำอย่างไร ต้องประเมินคนก่อน หาตำแหน่งของตนเองก่อน อยู่ตรงไหน ผมเองอายุ 78 หมดแล้ว ข้าราชการก็ไม่ได้เป็น อะไรก็ไม่ได้เป็น ประเมินกายภาพเป็นอย่างไร แข็งแรง แต่ก่อนทำงานโดดร่มลง ทหารโดด โดดตามเลย อยู่โรงเรียนเป็นหัวหน้ายิมนาสติก บาร์เดี่ยวบาร์คู่ วันก่อนไปต่างจังหวัดเห็นบาร์ จะอวดให้ดูหมุนรอบเดียวแล้วตกแป้กลงมา หัวสมองสั่งได้แต่ร่างกายมันไม่ได้แล้ว ก็แข็งแรงกับคนอายุ 78 เท่ากัน

SCG เหมือนกัน วันนั้นที่ฟองสบู่แตกถามว่าล้มหรือไม่ ล้ม แล้ววันนั้นผมได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการพอดี แต่บอกไว้ก่อนถ้าล้มก่อนผมก็ได้เป็นกรรมการนะ แปลกประหลาด ตอนนั้นยังไม่มีคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง แต่อย่างที่ว่า ปฏิบัติโดยไม่รู้ตัว ตอนนั้นผมนั่งอยู่ตัวเลขแดงบนกระดาน ขาดทุนอยู่ 58,000 ล้านบาท คนเราส่วนมากจะได้สติตอนจะขาดใจตาย วันนั้นกรรมการทุกคนสะดุ้งตื่นหมดเลย มาเริ่มถามตัวเองเหมือนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสอน ประเมินตนเองแล้ว ถามคำถามง่ายๆ ว่าบริษัทตั้งเป็น 100 ปี ถามมาว่าตัวเองเก่งอะไร ก่อสร้าง ปูน แล้วทำอะไรที่ไม่เก่งไปบ้าง รู้เลย

เป็นผลจากอิทธิพลจากตะวันตกเข้ามา เราหยุดโตหยุดใหญ่ไม่ได้ ถูกสอนมาแบบนั้น ผมก็ถูกสอนมาแบบนั้น หยุดเมื่อไรตายเมื่อนั้น วันนั้นปูนมีบริษัทไปเกือบ 200 บริษัท เขาถึงเรียกเครือ มันไม่มาเป็นลูกเป็นหวี มาเป็นเครือเลยนับไม่ได้ สะท้อนภาพความเป็นจริง มันคุมไม่ได้แต่ละจุดๆ มันไม่ได้ทำได้ดี บางอย่างเราถนัดบางอย่างไม่

พอทำเสร็จ ประการที่ 2 คือ มีเหตุผล มาทันที ปูนบอกเลยว่าต่อไปนี้จะทำแต่ core business เท่านั้น วันนั้นตีตารางมา 3 ช่อง อะไรถนัดบ้าง แล้วไม่ได้แปลว่าเทคโนโลยีอย่างเดียว ไม่ใช่วัตถุดิบอย่างเดียว ไม่ใช่ตลาดอย่างเดียว มันต้องดูไปถึงทรัพยากรมนุษย์ว่าเตรียมไว้หรือไม่ จะมีคนรับช่วงหรือไม่ เหมือนตอนทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 กลับกันเลย เอาคนมาก่อนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ไม่เอาตัวเลขไม่เอาการเติบโตอีกแล้ว บางทีกำหนดมาก่อนคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง แต่แนวคิดได้รับพระราชทานมาก่อนหน้านั้นแล้ว

พอใช้เหตุผลแล้ว เราตีกรอบตัวเองเลย เอาแต่พอดีพอควร เส้นทางสายกลางของเรา จำได้ว่าวันนั้นเก็บไว้ 3 อย่างจากเต็มแผงเลย อย่างแรก คือ ภาคก่อสร้าง พวกปูนวัสดุก่อสร้าง แล้วดูไปอีกว่าไม่ใช่แต่ตีกรอบตัวเอง แต่ดูไปอนาคตว่ามีอะไรที่มีศักยภาพบ้าง แล้วอย่าหลงไปเฉยๆ วาดภาพเฉยๆ แต่เราพร้อมจะทำจริงหรือไม่ คนเตรียมหรือยัง เอาเก็บปิโตรเคมีไว้ด้วย เพราะเราเตรียมไว้หมด และสุดท้ายคือกระดาษ แต่ไม่ใช่กระดาษเขียนแล้ว หนังสือพิมพ์จะเลิกพิมพ์หมดแล้ว เราไปทำกล่อง ทำบรรจุภัณฑ์ ดีกว่า แล้วบอร์ดในตอนนั้นที่เหลือ ขาย ขาย ขาย ขาย ทุกวาระ อะไรที่มันเกินตัว เรารีดไขมันออกไปหมดเลย

มันเหมือนถ้าเราปล่อยให้ลงพุงหน่อยมันไม่มีแรงแล้ว ต้องระวัง อย่างตอนนี้ 78 แล้ว เมื่อก่อนข้าวเยอะ เต็มทัพพี ต่อด้วยนมอีกแก้ว ก็ต้องปรับไปตามสภาพ ตอนนี้ครึ่งทัพพีพอแล้ว เดี๋ยวน้ำตาลขึ้น ไขมันไม่ได้แล้ว กินกุ้ง หัวกุ้งตัดทิ้ง ก็เสียดายนะ แต่ก็ต้องกินเนื้อขาวๆ ไม่มีไขมันแทน คือตัดสินใจไปตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ไม่คงที่

จำได้ว่า 18 เดือนต่อมา 58,000 ล้านบาทหายไปเลย ปรากฏว่าคืนหนี้ได้หมด อีก 3-4 ปีถัดมาปูนกำไรสูงสุดในรอบ 35 ปี จำคำพูดนี้ได้เลย แล้วบริษัทผอมลงเยอะเลย จาก 200 บริษัทเหลือ 100 บริษัท กิจกรรมน้อยลง แต่ประสิทธิภาพกลับดีขึ้น ทำงานดีขึ้น

ดังนั้นเศรษฐกิจพอเพียง ย้ำอีกทีว่าไม่ใช่ให้จน แต่ให้รวยอย่างยั่งยืน ทำอย่างไรให้ของเราไปเรื่อยๆ และยั่งยืนตลอดไป

ธรรมะประการสุดท้าย คือ อย่าประมาท สร้างภูมิคุ้มกัน บริหารความเสี่ยง เพราะว่าวันพรุ่งนี้เกิดอะไรขึ้นไม่รู้ จำได้ว่าน้ำมันวันก่อนยังแพงอยู่ วันนี้ร่วงลงมา มีใครคิดว่าน้ำมันจะลงมาขนาดนี้ เพราะฉะนั้น พรุ่งนี้อะไรเกิดขึ้นไม่รู้ ต้องพร้อมเผชิญเหตุ เมื่อมีผลกระทบอีกมันจะได้มีกันชนและลดความเสี่ยง ลดผลกระทบลงได้

จะทำอะไรแล้วแต่ จะขายของไม่ใช่ไปขายริมถนนวิภาวดี ใครจะมาซื้อ มีคนเดินผ่านที่ไหน จะจอดรถก็ยังไงอยู่ จะโดนจับเอา ก็ต้องเดินไปที่ชุมชน เพราะฉะนั้น การบริหารหลักความคิดเหมือนกัน แม้กระทั่งคนเกษียณแบบผมก็ต้องคิด จะกินจะอยู่ต้องดูหมด จะกินแค่ไหนดี จะกินอะไรดี จะกินสเต็กชิ้น 7,000 คำละ 1,000 บาท หมอบอกกินปลานิลนึ่ง 40 บาทดีกว่า กิเลสไปที่สเต็ก แต่เหตุผลมันไปที่ปลานิล 40 บาท แบบนี้เป็นต้น

ดังนั้น จะเดินอย่างยั่งยืนอย่างไร คุณตัดสินใจเอง ถ้ากิเลสมันดึงเราอยู่ก็ไป รูป รส กลิ่น เสียง นำพาเราไป แล้วก็ไปหาหมอ หมอก็จ่ายยาให้เรา ไม่ใช่ยารักษาด้วย ทุกคนที่กินยาอยู่ ดูดีๆ มันเป็นยาลด ลดน้ำตาล ไขมัน ความดัน จริงๆ คุมปากลดปากไม่ต้องกินยาแล้ว มันด้วยเหตุด้วยผล แค่นี้คุณสอบผ่านหลักธรรมะ 3 ประการแล้ว ถ้าทำเป็นกิจวัตร ด้วยความเคยชิน ประมาณตน ประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา ทุกย่างก้าวที่เดินไป

สุดท้าย ต้องรอบรู้รอบคอบระมัดระวังด้วย เพราะวันนี้โลกมันเปลี่ยน จากการพัฒนาเทคโนโลยีทั้งหมด มันเปลี่ยนชั่วพริบตา ดังนั้น ต้องทันโลก ไม่ว่าจะอยู่อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ใช่ถอยหลังมากั้นรั้วรอบบ้าน ไม่พบปะสังสรรค์กับใครเลย ไม่ใช่แบบนั้น แต่อยู่อย่างไรให้รักษาตัวเองให้ยั่งยืนได้และสามารถอยู่กับคนอื่นได้อย่างกลมกลืนโดยไม่เสียเปรียบและไม่ถูกกินถูกกลืนตัวตนไป และธรรมะข้อสุดท้ายคืออย่าโกง ขอให้มีความซื่อสัตย์สุจริต มีธรรมาภิบาล ทำให้สำเร็จแล้วบ้านเมืองจะมีความสุขมีความสงบสุข

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Tuesday, 23 October 2018 13:08
ปรียานุช ทองไธสง

Author : เกาะติดข่าวการเงิน การธนาคาร หนี้ กองทุน พันธบัตร ตราสาร ทองคำ การประกันชวิต การประกันภัย การลงทุน อัตราแลกเปลี่ยน ดอกเบี้ย ภาษี การบริหารการเงินและการลงทุน ฯลฯ

Related items

Leave a comment

Make sure you enter all the required information, indicated by an asterisk (*). HTML code is not allowed.


  
MNr-วิถีพอเพียง-Sidebar1
X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM