Login to your account

Username *
Password *
Remember Me

Create an account

Fields marked with an asterisk (*) are required.
Name *
Username *
Password *
Verify password *
Email *
Verify email *
Captcha *
Reload Captcha
THUMMA-Oil & Gas-Strip-Head

สถานการณ์น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป สัปดาห์ที่ 26-30 พ.ย. 61 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 3-7 ธ.ค. 61 โดยทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

สถานการณ์น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป สัปดาห์วันที่ 26-30 พ.ย. 61 และคาดการณ์สัปดาห์วันที่ 3-7 ธ.ค. 61

ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 3.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 59.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 2.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 51.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 4.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 59.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 6.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 61.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 6.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 73.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 พ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 450.5 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 10 
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันโอมาน รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเดือน ต.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 5,100 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 955,300 บาร์เรลต่อวัน 
  • Reuters รายงาน CEO ของบริษัท Total นาย Patrick Pouyanne คาดบริษัทจะผลิตน้ำมันดิบที่ระดับ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี พ.ศ. 2562 เทียบกับ 2.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในไตรมาสที่ 3/61 
  •  Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของจีนเฉลี่ยปี 2561 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.3 % อยู่ที่ 3.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจาก บริษัท PetroChina ผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งน้ำมันแห่งใหม่ Mahu ซึ่งเพิ่งถูกค้นพบ และอยู่ระหว่างทดลองผลิตน้ำมันดิบที่ระดับ 2,500 บาร์เรลต่อวัน (บริษัทมีแผนผลิตน้ำมันดิบ ปี 2564 ปริมาณ 55,000 บาร์เรลต่อวัน และปี 2568 ที่ 90,000 บาร์เรลต่อวัน) 
  • คณะกรรมาธิการพลังงานของแคนาดา (National Energy Board) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ 4.59 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มจากประเมินครั้งก่อน 22,000 บาร์เรลต่อวัน ) เนื่องจากปริมาณการผลิตHeavy Oil Sand ซึ่งคาดว่าปริมาณการผลิตเฉลี่ยปีนี้จะเพิ่มจากประเมินครั้งก่อน 42,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ 1.88 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ปัญหาคอขวดที่บริเวณเกิดจากกำลังการสูบถ่ายน้ำมันทางท่อไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันบางรายต้องลดปริมาณการผลิต
  • Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่น (Rig) ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 พ.ย. 61 เพิ่มขึ้น 2 แท่น WoW มาอยู่ที่ 887 แท่น

 

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • กลุ่ม OPEC และกลุ่มนอก OPEC กำลังจะพิจารณาการปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ในการประชุมสามัญวันที่ 6 ธ.ค. 61 ที่กรุง Vienna ประเทศออสเตรีย ล่าสุด รัสเซียประกาศพร้อมร่วมมือลดปริมาณผลิตน้ำมันดิบกับกลุ่ม OPEC ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของรัสเซียนาย Sergie Ryabkov กล่าวว่ารัสเซียต้องการให้ราคาน้ำมัน "สามารถคาดการณ์ได้ง่ายไม่แกว่งตัวหวือหวามากไป"
  • ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ร้อนแรงขึ้นเพราะการเผชิญหน้าระหว่างยูเครนกับรัสเซีย (วันที่ 25 พ.ย. 61 รัสเซียกักเรือของกองทัพเรือยูเครนจำนวน 3 ลำ บริเวณทะเลดำนอกชายฝั่งรัสเซีย-แหลม Crimea ด้วยข้อหาลุกล้ำน่านน้ำรัสเซีย ต่อมา ศาลตัดสินจำคุกทหารเรือยูเครน 2 เดือน) และประธานาธิบดียูเครน นาย Petro Poroshenkoประกาศกฎอัยการศึกและร้องขอให้ตุรกีไม่อนุญาตให้เรือของรัสเซียเดินเรือเข้าหรือออกช่องแคบ Bosporusล่าสุดประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump ทวีตเตอร์ประกาศยกเลิกการประชุมกับประธานาธิบดีรัสเซีย นาย Vladimir Putin ระหว่างการประชุม G20 จนกว่าจะมีการปล่อยตัวทหารยูเครนและเรือรบ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้ชาติคู่กรณีและประเทศเพื่อนบ้านเตรียมความพร้อมทางทหาร อนึ่งข้อพิพาทข้างต้นอาจปรับเปลี่ยนดุลอำนาจทางการเมืองของโลก (ผู้นำตุรกีมีอำนาจต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศมากขึ้นจากเดิมที่มีแต้มต่อเหนือ MBS ของซาอุฯ ซึ่งตนกุมหลักฐานคดีสังหาร นาย Khashoggi)
  • Pemex ของเม็กซิโก รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ต.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 7 % อยู่ที่ 1.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลในปี 2553
  • โฆษกของบริษัท Nexen แถลงแหล่งผลิตน้ำมันดิบนอกชายฝั่ง Buzzard กำลังการผลิต 200,000 บาร์เรลต่อวัน ของอังกฤษ ในทะเลเหนือ หยุดดำเนินการเพื่อซ่อมแซมท่อขนส่งน้ำมันใต้ทะเลรั่วไหล ตั้งแต่ 21 พ.ย. 61 โดยยังไม่ระบุกำหนดระยะเวลา ผู้ค้าคาดว่าจะทำให้การส่งมอบน้ำมันดิบ Forties ในเดือน ธ.ค. 61 ยกเลิก จำนวน 3 เที่ยวเรือๆ ละ 600,000 บาร์เรล

 

แนวโน้มราคาน้ำมัน

บรรยากาศการค้าโลกสดใสขึ้นหลัง สหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก สามารถร่วมลงนามในข้อตกลงเสรีการค้าอเมริกาเหนือ (NAFTA) ฉบับปรับปรุง นอกจากนี้ ในวันเสาร์ที่ 1 ธ.ค. 61 ผู้นำสหรัฐฯ และจีนได้เห็นพ้องเลื่อนเวลาที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ออกไป 90 วัน จากกำหนดเดิมในวันที่ 1 ม.ค. 62 เพื่อประวิงเวลาให้ทั้งสองฝ่ายได้หาทางออกร่วมกัน กล่าวคือ คงอัตราภาษี 10% เช่นเดิม มิได้เพิ่มขึ้นเป็น 25% พร้อมกันนั้น จีนจะสั่งซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ อาทิจากภาคการเกษตร พลังงาน อุตสาหกรรม ทำให้บรรยากาศการลงทุนต้นสัปดาห์นี้กลับมาคึกคักเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีVladimir Putin ของรัสเซียได้พบปะหารือกับมกุฎราชกุมาร Mohammed bin Salman ของซาอุดีอาระเบียหลังการประชุม G20 และภายหลัง นาย Putin ได้กล่าวว่าจะร่วมมือเพื่อลดอุปทานน้ำมันโลกแต่ยังมิได้ระบุว่าจะต้องลดการผลิตเท่าใด จึงต้องติดตามการประชุมสามัญ OPEC ในวันพฤหัสบดีที่ 6 ธ.ค. 61 อย่างใกล้ชิดต่อไป อนึ่ง ระหว่างการประชุม G20 ผู้นำทั้งสองประเทศได้ใช้ฝ่ามือตบกันด้วยท่า High-Five สะท้อนความสามัคคี ทางด้านเทคนิค ในสัปดาห์นี้ ราคาเบรนท์มีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 57.5-63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเวสท์เท็กซัสฯ อยู่ในกรอบ 49.5-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาดูไบอยู่ในกรอบ 56.5-62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากข่าว Petroleum Planning and Analysis Cell ของอินเดียรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซินเดือน ต.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 18% อยู่ที่ 340,000 บาร์เรลต่อวัน และ Reuters รายงานกระทรวงพาณิชย์จีนอนุมัติโควตาส่งออกน้ำมันเบนซินรอบที่ 4 ในปี พ.ศ. 2561 ปริมาณ 6.3 ล้านบาร์เรล ให้กับบริษัทโรงกลั่นน้ำมันของรัฐ และคาดว่าจะส่งออกในเดือน ธ.ค. 61 ทั้งนี้ โดยรวมโควตาส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปในปี พ.ศ.2561 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 23.2 ล้านบาร์เรล ประกอบกับ Korea National Oil Corp. (KNOC) ของเกาหลีใต้รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซิน ในเดือน ต.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7% มาอยู่ที่ 15.3 ล้านบาร์เรล สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศลดลงจากปีก่อน 16% ลดลงมากที่สุดตั้งแต่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อ 20 ปีก่อน ทำให้ปริมาณสำรองเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 34% มาอยู่ที่ 6.98 ล้านบาร์เรล อีกทั้ง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 พ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 940,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 14.38 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบกว่า 3 เดือน อย่างไรก็ตาม Platts สำรวจโรงกลั่นน้ำมันรายใหญ่ในจีน อาทิ Sinopec, PetroChina, Sinochem และ China National Offshore Oil Corp. พบว่าอัตราการกลั่นในเดือน พ.ย. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 2% มาอยู่ที่ระดับ 83% และ Platts คาดว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซินของจีน ในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 61 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 6.60 ล้านบาร์เรล ต่อเดือน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค. 61 ที่ 9.35 ล้านบาร์เรล ต่อเดือน ด้านปริมาณสำรอง PAJ รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 24 พ.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 220,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.28 ล้านบาร์เรล และ EIAรายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 พ.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 70,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 224.6 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบกว่า 12 เดือน ทางด้านเทคนิค ในสัปดาห์นี้ ราคาเบนซินมีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 58.5-64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 

 

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากข่าวกรมศุลกากรจีน (General Administration of Customs) รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซลเดือน ต.ค.61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 40 % อยู่ที่ระดับ 396,000 บาร์เรลต่อวันและบริษัท JXTG Nippon Oil & Energy Corp. ของญี่ปุ่นกลับมาดำเนินการหน่วย Crude Distillation Unit (CDU) No. 2 (กำลังการกลั่น 90,200 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่นMizushima-B (กำลังการกลั่น 180,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย. 61 หลังจากปิดซ่อมบำรุงตามแผน อีกทั้ง Korea National Oil Company (KNOC) ของเกาหลีใต้รายงานความต้องการใช้น้ำมันดีเซล เดือน ต.ค. 61 ลดลงจากปีก่อน 11% มาอยู่ที่ 5.64 ล้านบาร์เรล ด้านปริมาณสำรอง PAJ รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 24 พ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.09 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 10.97 ล้านบาร์เรล และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 พ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.6 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 121.8 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานรัสเซียรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซล เดือน ต.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 9.7% มาอยู่ที่ 722,000 บาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ต.ค. 60 อีกทั้ง IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 พ.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 300,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.77 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบเกือบ 3 เดือน ในสัปดาห์นี้ ราคาดีเซลมีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 70-75.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Wednesday, 05 December 2018 04:53
วาสนา วัฒนทรงธรรม

Author : เกาะติดข่าวสารวงการพลังงานในทุกมิติ ทั้งไฟฟ้า น้ำมันและก๊าซ พลังงานทดแทน พลังงานสะอาด พลังงานสีเขียว รวมถึงข่าวอื่นๆ ทั้งเรื่องของนวัตการรม การลงทุน หรือมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาครัฐ ฯลฯ

Leave a comment

Make sure you enter all the required information, indicated by an asterisk (*). HTML code is not allowed.


  
X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM